ถ้าเรียนกับโค้ชสิบคน
เขาก็อาจแนะนำเราไปคนละทาง
เหมือนที่คนเขากล่าวว่า
“มากหมอ ก็มากความ”
ถ้าอ่านหนังสือสักสิบเล่ม
เราก็อาจได้ข้อคิดมาหลายสิบข้อ
ซึ่งแนวคิดจากผู้เขียนล้วนต่างกัน
ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่สะสมมา
ส่วนจะตรงกับเรามั้ย ?
ต้องลองคิด ลองทำดู
ก่อนที่จะปักใจเชื่อในทันที
มิเช่นนั้นแล้ว…
คงไม่วายตกเป็นคนเชื่ออะไรง่าย ๆ
เช่น ถ้าผมบอกว่า จากสถิติแล้วคนเราตัดสินใจ
ชั่วโมงละ 5 พันครั้ง แล้วปักใจเชื่อทันที
ก็เท่ากับว่าได้ตัดสินใจเชื่อโดยไม่ได้ลอง
ค้นคว้าหาเหตุผลและที่มาเสียก่อนว่าสถิตินี้
มาจากการวิจัยของใครหรือสถาบันใด ?
หรือ มีโค้ชสอนรวย บอกทำเงินล้านได้แน่นอน
แต่เราไม่ได้ลองวิเคราะห์ว่า ที่บอกว่าทำได้นั้น
คือใช้เวลากี่เดือน หรือกี่ปี? , อัตราส่วนกำไร
ดีมั้ย ? ไม่ใช่ว่าสอนให้ทำเงินล้านแต่กำไรไม่มี
มันก็มีแต่เสียกับเสียจริงมั้ยครับ ?
คนทำงานที่ตกเป็นทาสเครื่องมือก็มีไม่น้อย
ที่เรียนจบสูง ๆ มาหรืออ่านแค่ตำราแล้วคิดว่า
ชีวิตการทำงานจริงมันจะง่ายเช่นนั้น
ผมแชร์ประสบการณ์ดังนี้ครับ
ผมเคยมีคนรู้จักท่านหนึ่งที่ศึกษาการวิเคราะห์
คนด้วยศาสตร์ DISC ที่ให้แนวคิดคร่าว ๆ ว่า
คนทำงานมี 4 ประเภท คือ
1.Dominance(รวดเร็ว ชอบนำ)
2.Influence(ชอบแสดงออก ชอบสังคม)
3.Steadiness(เป็นมิตร ชอบช่วยเหลือ)
4.Compliance(ละเอียด มีกฎระเบียบ)
พอวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือแล้วเสร็จก็เริ่มตีค่า
ว่าคนนั้น คนนี้ ต้องทำงานเกี่ยวกับอะไร ?
หรือเหมาะกับอะไร ? โดยไม่วิเคราะห์ปัจจัย
อื่นเพิ่มเติมว่ามันใช่จริงหรือไม่ ?
หากเป็นการวิเคราะห์เน้นปริมาณหรือหยาบ ๆ
ผมว่าพอได้นะ แต่จะดีกว่าถ้าลง รายละเอียดให้มากกว่านี้เพราะอย่าลืมว่าแม้กระทั่งคนที่เป็น
ประเภท D เหมือนกันก็ย่อมมีความคิด
ความอ่านไม่เหมือนกัน หรือประเภท C
เหมือนกันก็ย่อมคิดเห็นไม่เหมือนกัน
ซึ่งหลักการคิดก็ง่ายๆ และเราก็ประสบพบเจอ
ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เช่นคนที่เกิดลัคนาราศีเดียวกัน ยังมีความคิดต่างกัน, คนที่เป็นพี่น้องฝาแฝดหรือมีเวลาเกิดไล่เลี่ยกันยังมีชีวิต
ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
นับประสาอะไรกับคนทำงานที่มาจาก
ร้อยพ่อพันแม่แต่โดนจัดประเภทโดยเครื่องมือ
ที่สามารถมีความคลาดเคลื่อนได้ ทั้งจาก
คนทำแบบทดสอบหรือกระบวนการตรวจผล
สุดยอดการบริหารคนที่ดีที่สุด
จึงต้องอาศัยหลักรู้ลึกและรู้กว้าง
การรู้จักแค่ชื่อเสียงเรียงนาม,
ประวัติการศึกษาผ่านเอกสารหรือฐานข้อมูล
ยังไม่เพียงพอ
ผู้บริหารหรือหัวหน้าที่มีลูกน้องควรรู้ลึกด้วย
เช่น นิสัยใจคอของลูกน้อง, ความเป็นอยู่ของ ครอบครัว, สิ่งแวดล้อมที่บ้านของลูกน้องเป็น
อย่างไร ?, เขามีความสุขหรือไม่ ?
เมื่อรู้กว้าง รู้ลึกผนวกกับเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์
ในตอนแรกแล้วจึงจะเข้าข่ายเข้าใกล้ความสมบูรณ์และใช้ในการบริหารคนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
สิ่งที่อยากฝากไว้ในบทความนี้
คือการไม่ตกเป็นทาสของเครื่องมือ
ของหนังสือ หรือ ผู้สอนคนใดก็ตาม
โดยที่เราไม่ฝึกวิเคราะห์แยกแยะเลย
และส่งท้ายบทความนี้ด้วย 10 คำสอน
ของพระพุทธเจ้า ดังนี้
– อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา
– อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบกันมา
– อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ
– อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา
– อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง
– อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา
– อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ
– อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็น
ของตน
– อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้
– อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา
ขอบคุณครับ
ธนบรรณ สัมมาชีพ
============
ทุกท่านสามารถติดตามทุกความเคลื่อนไหวที่
http://www.2bfranchisedd.com/category/ข้อคิดคนทำงาน/
“นำเสนอปรัชญาชีวิต สร้างแรงผลักดัน
แรงบันดาลใจในการทำงานให้กับคนทำงาน
พร้อมให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ
ที่สนใจขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์
อย่างจริงจัง”
ขอบคุณภาพจากเพจ Artuth
ในภาพเป็นภาพไอน์สไตน์ที่ผมชื่นชอบครับ