ความสุขกับความสำเร็จอะไรเกิดก่อนกัน ?

“ความสุขกับความสำเร็จอะไรเกิดก่อนกัน ?”
เป็นคำถามง่าย ๆ แต่ตอบยากนะครับ
ลองตอบในใจก่อนอ่านบทความต่อไป
ถ้าพร้อมแล้ว ค่อยไปต่อนะครับ

Shawn Achor ผู้เขียนหนังสือ
“The Happiness Advantage.”
ชายผู้ที่ลงมือทำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์
เรื่องความสุขอย่างจริงจัง และเป็นที่ยอมรับ
จากนักศึกษาฮาร์วาร์ด 1,600 คน
รวมทั้งบริษัทที่ติดอันดับฟอร์จูน 500
อีกร่วมสิบแห่งก็ช่วยยืนยันว่า
ทฤษฎีที่ว่า “ความสุขมาก่อนความสำเร็จ” นั้น
มันถูกต้อง

ความเชื่อเก่า ๆ ที่เรามักพบเจอและจมปลัก
อยู่กับมันแบบไม่รู้ตัว​ เช่น…

เราต้องเรียนจบปริญญาเอกก่อน
จึงจะมีความสุขได้ ระหว่างนี้ก็ทำตัวห่าง
จากสังคม เก็บตัวจนสูญเสียคอนเนคชั่น

เราต้องลดน้ำหนักให้ได้ 5 กิโลกรัม
ภายใน 2 เดือน ระหว่างนี้ต้องอดทน
ไม่ตามใจปากเลย บางวันต้องเครียด
แถมเป็นโรคกระเพาะรุมเร้า

เราต้องทนทำงานกับเจ้านายที่ไม่ชอบหน้า
โดยหวังว่าเมื่อเปลี่ยนเจ้านายใหม่
จะได้รับการโปรโมทเลื่อนขั้น
จากนั้นก็จะมีความสุขจริง ๆ เสียที

เสียดายที่ความเชื่อเหล่านี้
ได้รับการพิสูจน์เรียบร้อยแล้วว่ามันไม่จริง
นอกจากนั้นมันยังมีพลังลบบางอย่าง
ไปกักขังศักยภาพของเราไม่ให้เติบโต

โลกทุกวันนี้
มีคนเรียนจบสูงและไม่มีความสุขเยอะมาก
ในขณะเดียวกันคนที่เรียนไม่จบ
กลับประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
มีให้เห็นกันเยอะหลากหลายสาขาวิชาชีพ

ไหนจะผู้บริหารระดับสูงหลายคน
ที่จำไม่ได้แล้วว่า ตนเคยมีความสุขจริง ๆ
ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ทั้งที่ตลอดชีวิตที่ผ่านมา
ลงทุนลงแรงไปกับงานอย่างไม่รู้จักเหนื่อย

ก็ชีวิตคนเรามันไม่รู้จักพอนั่นไงล่ะครับ
เมื่อประสบความสำเร็จอะไรแล้ว
ก็ย่อมมองหาเป้าหมายต่อไป
จนมันเป็นความกดดันที่ไม่มีวันสิ้นสุด

การหยุดคิดสักนิด และใช้ความสุขเป็นเชื้อเพลิง
จึงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง
คำกล่าวของ Shawn Achor
“ความสุขไม่ใช่ผลลัพธ์
แต่เป็นต้นกำเนิดของความสำเร็จ”
คงทำให้หลายท่านได้คิด

ลองมองดูความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัวดูบ้าง
มีต้นไม้ที่รอเราไปรดน้ำอยู่มั้ย ?
มีหมา แมว ให้เราไปหยอกเย้าอยู่มั้ย ?
มีลูก หลานให้เราได้ไปใช้เวลาร่วมอยู่มั้ย ?
มีเพื่อนให้เราได้ไปสังสรรค์ปาร์ตี้ช่วงวันหยุดอยู่มั้ย ?

ลองแบ่งเวลาชีวิตสักนิด
หาความสุขในแต่ละวันให้เจอ
ขอบคุณทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าร้ายหรือดี
เชื่อเถอะครับ …
สุขใจเมื่อไหร่ เรื่องดี ๆ จะเข้ามาเอง

ขอบคุณครับ
บริหารความคิด ข้อคิดคนทำงาน

ขอบคุณภาพจาก @dirtandglass
เพจ human perception

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *