โสเครติสนักปรัชญาชาวกรีก ผู้ฝากข้อคิด
ให้คนรุ่นหลังไว้เป็นอย่างดีกับเรื่องการ
เลือกรับข้อมูลข่าวสารและวิเคราะห์
ความจริงเท็จของข้อมูลจากแหล่งข่าวต่าง ๆ
เรื่องมีอยู่ว่า… วันหนึ่งโสเครติสกำลังเดิน
ไปตามถนนในตลาดของกรุงเอเธนส์
ทันใดนั้น มีชายที่รู้จักเขาวิ่งเข้ามา
ด้วยอาการกระวนกระวาย
เหมือนคันปากอยากเล่าอะไรบางอย่าง
เขาตะโกนเรียกโสเครติสให้หยุดฟังว่า
“เฮ้ โสเครติส ๆ ข้าต้องบอกบางอย่าง
เกี่ยวกับเพื่อนของท่านเสียแล้วล่ะ
รับรองว่าท่านจะต้องตะลึง แทบไม่เชื่อ
ในสิ่งที่ข้าจะเล่าเป็นแน่”
โสเครติสรีบตัดบท “ช้าก่อน”
ก่อนที่ท่านจะเล่า ข้าอยากให้ท่าน
ตอบคำถามของข้าเล็กน้อย ซึ่งข้าเรียก
ขั้นตอนนี้ว่า “ตัวกรองสามชั้น”
“มีด้วยรึตัวกรองสามชั้น ตั้งแต่เกิดมา
ข้าเพิ่งเคยได้ยิน” ชายคนนั้นพูดเสียงแกมสงสัย
โสเครติสไม่ปล่อยให้เสียเวลา จึงอธิบายต่อว่า
ตัวกรองที่ 1 มันคือ “ความจริง”
“ท่านแน่ใจมั้ยว่า… สิ่งที่จะเล่ามันเป็นความจริง”
“ข้าก็เพิ่งได้ยินมาเมื่อสักครู่ มันเป็นข่าวล่ามาแรง
จริงแท้อย่างไรก็ยังไม่แน่ใจ”
“เอาเถอะ ก็แสดงว่าท่านก็ไม่รู้จริงหรือเท็จ”
โสเครติสพูดและเริ่มใช้ตัวกรองที่ 2 คือ “ความดี”
“เรื่องเกี่ยวกับเพื่อนข้า เป็นเรื่องดีงามหรือไม่ ?”
“ข้าเกรงว่า… มันจะตรงกันข้ามน่ะสิ” ชายคนนั้นตอบ
เราผ่านมา 2 ชั้นกันแล้ว “ท่านต้องการบอกข้าเกี่ยวกับ
เรื่องที่ไม่ดีงามสักเท่าไหร่ของเพื่อนข้า แถมยังไม่มั่นใจ
ด้วยว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือไม่”
“แต่เอาเถอะ” ตัวกรองที่ 3 คือ “เป็นประโยชน์”
“ท่านคิดว่าเรื่องที่ท่านจะบอกเกี่ยวกับเพื่อนของข้า
มันจะเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของข้าหรือไม่ ?”
“ข้าคิดว่าไม่นะ”
“ข้าโสเครติส ขอสรุปดังนี้
ในเมื่อเรื่องที่ท่านจะบอกข้านั้น
ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องดีและยังไม่มีประโยชน์
เหตุผลใด ท่านจึงต้องการอยากจะบอกข้านักเล่า”
เหตุการณ์สั้น ๆ นี้ ได้เป็นข้อคิดให้กับผู้คน
ตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน มีการบอกเล่า
กันหลายเวอร์ชั่นตามสไตล์ผู้เล่าแต่ละคน
แต่ที่แน่นอน เราต่างได้ข้อคิดดี ๆ
ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันจริงมั้ยครับ ?
ขอบคุณครับ
ธนบรรณ สัมมาชีพ
ขอบคุณภาพจากภาพยนตร์ Socrates(1971)