“ไอ้หนุ่ม…มึงอย่ามาทฤษฎีมาก”
หัวหน้าเบรกคำพูดผมลงกลางโต๊ะกับข้าว
หลังจากที่ผมเสนอความคิดเห็นไปตามที่เข้าใจ
ซึ่งมันคือทฤษฎี “ปลาโลมา” ที่ผมจะเล่าให้ฟัง
ดังต่อไปนี้ (แนวคิดจากคุณตัน ภาสกรนที)
.
.
🐬🐬🐬
======
เหตุการณ์มันเกิดขึ้นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง
(ไม่ขอเอ่ยชื่อร้าน)
วันนั้นลูกค้าเต็มร้าน พนักงานเสิร์ฟบริการไม่ทัน
โต๊ะของผมซึ่งมีหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานอีก
ประมาณ 3-4 คน รอสั่งอาหารและเครื่องดื่มอย่างใจจดใจจ่อ
แต่ไม่มีพนักงานเสิร์ฟคนไหนหันมาสบตาเลย
ด้วยความที่ผมเป็นเจ้าบ้านก็ไม่อยากเสียชื่อ
เพราะหัวหน้างานเดินทางมาไกล
พกพาความหิวมาด้วย
และดูจากอาการน่าจะพกพาความกระหาย
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาด้วยมิใช่น้อย
ผมตัดสินใจจะทิปพนักงานเสิร์ฟเสียก่อน
เพื่อแลกกับความสะดวกสบาย
แม้ตามหลักจะรู้อยู่แล้วว่า
แม้ไม่ทิปพนักงานเสิร์ฟก็ต้องดูแลอยู่แล้ว
ผมจึงกล่าวกับหัวหน้าว่า
“พี่ครับ ผมขอใช้ทฤษฎีปลาโลมานะครับ”
มันยึดหลักการที่ว่าเจ้าปลาพวกนี้
จะได้ของรางวัลทันที แล้วจึงยอมปฏิบัติตาม
คือปลาโลมากระโดดปุ๊บ ต้องได้รางวัลปั๊บ
ไม่ใช่รอให้ผ่านไปครึ่งชั่วโมง
ผมอธิบายว่าพนักงานเสิร์ฟก็ไม่ต่างจากปลาโลมา
อันคนทำงานนั้นก็เป็นทำนองเดียวกัน
จะให้ทำงานวันนี้ให้ดีเลิศแล้วค่อยตบรางวัล
เมื่อสิ้นปีมันคงยาวไป (เผลอ ๆ ขอลาออกซะก่อน)
.
.
🐬 🐬 🐬
======
หัวหน้าผมได้ยินดังนั้นก็ลั่นเลยครับ
“ไอ้หนุ่ม…มึงอย่ามาทฤษฎีมาก”
“กูต้องการให้เด็กมันเรียนรู้
ที่จะทำงานให้เต็มที่ ไม่ใช่ทำเอาหน้า
ไว้ให้มันบริการดี ๆ เสียก่อน
กูไม่ขี้เหนียวหรอก
จะทิปมันให้งาม”
.
.
🌊🐬
======
บทสรุปเป็นอย่างไร…เดาออกมั้ยครับ ?
ก็บริการกันเองไง
ใครเกิดปีชง…ก็ชงเหล้าให้หัวหน้า
ใครนั่งทิศตะวันตัก…ก็คอยตักข้าวให้หัวหน้า
เรียกได้ว่าต้องดูแลหัวหน้ากันทั้งในเวลางาน
และนอกเวลางานอย่างถึงใจจริง ๆ
จะว่าไปจะทฤษฎีไหนก็ไม่ผิด
แต่ควรประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
กับพนักงานเราเอง หากมุ่งแต่สร้างการแข่งขัน
ด้วยตัวเม็ดเงิน มันคงเป็นการสร้างวัฒนธรรม
ที่ใช้ได้ในระยะสั้นหรือกลางแต่อาจไม่ถึงขั้นยั่งยืน
สิ่งที่ต้องทำคือปลูกฝังการแข่งขันที่
รางวัลไม่ใช่ตัวเงินเสมอไป เช่น คำชม เกียรติบัตร
โล่รางวัล ฯ รวมทั้งโอกาสในการเติบโตในสายงาน
.
.
พนักงานเสิร์ฟที่งานเข้าต่อคืนเยอะ ๆ
ไม่สามารถโฟกัสลูกค้าได้พร้อมกัน
การจ่ายทิปล่วงหน้า เท่ากับเรายอมแลกเงิน
กับบริการที่ดีขึ้นเพื่อประโยชน์สุขของเรา
ที่จะดื่มกินอย่างเอร็ดอร่อย
กับการที่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม
และสิ่งที่ได้มาคือ บริการที่ย่ำแย่
ส่วนตัวผมคงไม่อยากพูดคุยเรื่องทฤษฎีอะไร
กับหัวหน้างานคนนี้ เพราะพูดไปก็คงไม่ถูกคอ
จากนั้นก็เข้าสู่โหมดผู้ฟังที่ดีซะมากกว่า
.
.
🐬
======
แล้วคุณล่ะครับ
คิดเห็นอย่างไรกับเหตุการณ์นี้
เล่าสู่กันฟังหน่อยนะครับ