ผู้ติดตามหรือคนใกล้ตัวเรานั้น…
ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความรู้สึกร่วมกับเรา
บางคนมาเพื่อเสพข่าว ดูว่าเรามีสารทุกข์สุกดิบ
อย่างไร แต่แค่ดูเท่านั้น ไม่ได้มีแอคชั่นใด ๆ
บางคนเมื่อเห็นเราทุกข์ก็เสนอไมตรีอันดี
ยื่นหูรับฟัง ยื่นมือช่วยเหลือตามกำลังที่มี
มีบ้างที่อาจจะทั้งบ่นไปสอนไป แต่สุดท้าย
ก็ไม่ทิ้งกัน
แต่บางคน… หรือบางกลุ่มนี่สิ
ไม่เคยให้ความช่วยเหลือเลย
ซ้ำยังทับถม เอาเรื่องของเราไปเล่าต่อสนุกปาก
ให้เกิดความเสียหาย คนประเภทหลังนี้มีมาก
ในสังคม ต่อหน้านั้นพูดดีแต่ลับหลังทิ่มแทง
กันพรุน
ประเด็นคือไม่มีใครหลุดพ้นจากวงจรนี้ได้
การป้องกันแต่แรกย่อมดีกว่าแก้ไข
คำกล่าวคบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อเหมือนเป็นเรื่องง่ายแต่กลับเป็นสิ่งที่ทำยากสุด ๆ
แต่ก็ต้องฝึกทำ จะได้เป็นภูมิต้านทานให้ตัวเอง
สมัยที่ผมทำงานบริหารทรัพยากรบุคคล
ในส่วนงานสรรหาและคัดเลือก มักมีตลกร้าย
กล่าวถึงวันสัมภาษณ์งานว่าเป็น
“วันตอแหลแห่งชาติ” คือ ผู้สมัครงานมัก
พูดให้อะไรต่ออะไรมันดูง่ายไปหมด
ทำนองเออออห่อหมกเพื่อให้ได้งาน
และซ้อมบทอย่างหนักในการอ้างสรรพคุณ
จนผ่านการสัมภาษณ์ได้
แต่เมื่อทำงานไปสักพัก(เริ่มหมดโปรฯ)
ตัวตนที่แท้จริงก็เริ่มปูดออกมา
จนเมื่อถึงคราวก็จำต้องแยกทาง(ทำงานไม่ได้อย่างที่คุย) นั่นคือที่มาว่า ทำไมจึงมีเครื่องมือวิเคราะห์คน, จับพิรุธ จับผิดมากมายออกมาเพื่อลดความผิดพลาดในการรับคนเข้าทำงาน
แต่ถามว่ามันได้ผลจริงหรือ…?
ชีวิตจริงเรา… จะมีโอกาสได้วิเคราะห์เพื่อนใหม่
, เพื่อนเก่า, ผู้ติดตามและคนใกล้ตัวอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเชียวรึ… มันยากนะ เอาเป็นว่า
ทิ้งเรื่องศาสตร์ไป มาโฟกัสเรื่องศิลป์มากขึ้น
ไอ้คนพวก”ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ”
ก็คบมันไว้เพื่อผลประโยชน์บางอย่างซะ
ในขณะเดียวกันถ้าไม่มีผลประโยชน์อะไรเลย
ให้พิจารณาอยู่ห่าง ๆ ไว้ มันคือกลุ่มคนที่
ศีลไม่เสมอกัน คบกันไปแค่ประคอง
คนมันแห่มีกิ๊กกันได้… ทำไมชีวิตด้านการทำงาน
จะมีการคบแค่ผลประโยชน์ระยะสั้นบ้าง
จะทำไมล่ะ…?
“ผีเห็นผีโว้ย!!!”
ขอบคุณครับ
ธนบรรณ สัมมาชีพ