มธุรสวาจา


กาลครั้งหนึ่ง​ มีชาวนาผู้ยากจนได้เลี้ยง
โคหนุ่มรูปร่างสวยงามเปี่ยมด้วยพละกำลัง
ชาวนารักและถนอมเจ้าโคดุจดังลูกชายคนหนึ่ง

เจ้าโคจึงคิดทดแทนบุญคุณชาวนาผู้ยากจนนี้
ชีวิตจะได้สุขสบายกับเขาเสียที​ จึงเอ่ยว่า

“พ่อ… ท่านจงไปพนันกับเศรษ​ฐีว่าโคของท่าน
สามารถลากเกวียนหนึ่งร้อยเล่มที่มัดติดกัน
ได้อย่างสบาย”
(ซึ่งปกติแล้วไม่มีโคที่ไหนทำได้)​

ชาวนาได้ยิน​ดังนั้นก็รีบวิ่งไปวางเดิมพันกับ
เศรษฐีทันที​ จากนั้นวันรุ่งขึ้น​ กิจกรรม​ประลอง
จึงเกิดขึ้น​ต่อหน้าชาวบ้านมากมาย

อากาศ​วันนั้นร้อนระอุ​เป็นพิเศษ
แถมด้วยความเครียดของชาวนาที่ต้อง
วางเดิมพันถึงหนึ่งพันเหรียญ​

จึงได้เริ่มต้นกับเจ้าโครูปงามอย่างซีเรียส​
ด้วยคำพูดที่แสนหยาบคาย

“ไป​ ๆ​ ไอ้โคจอมอู้​ ไอ้โคโสโครก
รีบลากเกวียนทั้งหมดไปข้างหน้า​สิวะ
… ประเดี๋ยวข้าจะแพ้เดิมพัน​ ฉิบหายกันพอดี”

โคได้ยินดังนั้นก็ฉุนขาด
ยืนอยู่เฉย​ ๆ​ เอาซะดื้อ​ ๆ​ ทำให้เงินเดิมพัน
ต้องตกเป็นของเศรษฐ​ีอย่างง่ายดาย​

เมื่อกลับมาที่บ้าน​ ชาวนาเสียใจมาก
ร้องไห้ฟูมฟาย​เพราะเงินเก็บหมดตัวเกลี้ยง
ฝ่ายโคหนุ่มอดสงสารไม่ได้จึงเข้ามาพูดคุย
และให้โอกาสอีกครั้ง

“พ่อด่าว่าฉันอู้งาน ทั้ง​ ๆ​ ที่ฉันช่วยทำนาทุกวัน
พ่อด่าว่าฉันสกปรกโสโครก​ ทั้ง​ ๆ​ ที่ฉันก็
รักสะอาดไม่​เคยถ่ายเรี่ยราดบริเวณ​บ้าน
อันนี้ต้องเคลียร์​ความรู้​สึกกันก่อน

เอาล่ะ… ทีนี้พ่อไปเดิมพันใหม่
ฉันจะลากเกวียนสองร้อยเล่มให้ดู
ส่วนพ่อก็หาเงินมาวางเดิมพันเท่าตัว
เอาคืนทั้งต้นทั้งดอก… รอบนี้รวยแน่”

“อ้อ… รอบนี้พ่ออย่าลืมพูดดี​ ๆ​ กับฉันด้วยล่ะ
แล้วฉันจะไม่ทำให้พ่อผิดหวัง”

ชาวนาผู้ยากจนรับฟังและปฏิบัติ​ตามเจ้าโค
วันนั้นจึงพูดจาอย่างเสนาะหูว่า

“เจ้าโคหนุ่มรูปงามของพ่อ
เจ้าจงลากเกวียนสองร้อยเล่มนี้ไปข้างหน้า
เพื่อแสดงกำลัง​วังชาของเจ้าให้เป็นบุญ​ตา
ให้กับท่าน​เศรษฐีและชาวบ้านในวันนี้ด้วยเถิด”

พูดยังไม่ทันขาดคำเจ้าโคก็ลากเกวียน
ไปหลายสิบเมตร​ จนเศรษฐ​ีต้องสั่งให้หยุด
และยอมรับผลแพ้เดิมพัน

ชาวนากลายเป็นผู้ร่ำรวยและเจ้าโคหนุ่ม
ก็ได้ตอบแทนบุญคุณ​ชาวนาไปอีกนาน

เรื่องเล่านี้สอนอะไรเราบ้าง…?

เกิดเป็นเจ้านายคน​ ต้องรู้จักใช้​ “มธุรสวาจา”
เพราะมัน​ช่วยให้เราได้มิตรไมตรีจากคู่สนทนา
ได้ใจและความร่วมมือจากลู​กน้อง​
ด้วยหลักง่าย​ ๆ​ ว่า​ อยากให้ใครยิ้มให้เรา
เราก็ต้องส่งยิ้มให้เขาก่อน​ หรือในมุมการ
ทำธุรกิจ​ก็ไม่ต่างกัน​ บริษัท​ที่ได้รับการอบรม
ให้พนักงานส่งมอบบริการที่ดีให้ลูกค้าอยู่​เสมอ
ย่อมมีโอกาสขยายฐานลูกค้าง่ายขึ้นโดยใช้
งบประมาณ​เท่าเดิม​ เนื่องจากลูกค้าช่วยบอกต่อ

เรื่องนี้จะว่าปลาหมอตายเพราะปากก็ได้
แต่เนื้อหาทั้งหมดนี้ผมดัดแปลงมาจาก
นิทานชาดกเรื่องโคนันทิวิสาลนั่นเอง
โดยตอนท้าย​ พระพุทธ​องค์ได้ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย​ ชื่อว่าคำหยาบ
ไม่เป็น​ที่ชอบใจของใค​ร ๆ
แม้กระทั่ง​สัตว์​เดียรัจฉาน​”

ส่งท้ายด้วยบทกลอนจากนิราศภูเขาทอง
เผื่อท่านได้หยิบยกไปเล่าต่อจะได้มีทางเลือก
สุดแต่จะคัดสรรตามใจชอบครับ

“ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์
มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร
จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา”
-สุนทรภู่-

หวังว่าบทความนี้จะส่งข้อคิดที่ดี
ให้ทุกท่านเช่นเคยครับ

ขอบคุณ​ครับ​
ธน​บรรณ​ สัมมาชีพ​

======
Photo by Tom Verdoot:

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *