“ราคาแฟรนไชส์นั้น สำคัญไฉน”
ในยุค Gig economy มีคนที่อยากรวย
เป็นเศรษฐีใหม่มากมาย ด้วยการทำงานประจำ
ควบคู่กับงานไม่ประจำ ไม่ว่าจะเป็น freelance
,outsource,part-time หรืองานที่รับทำ
เป็นครั้งคราวเพื่อสร้างรายได้เสริมขึ้นมา
หนึ่งในทางเลือกที่ดี คือ การซื้อแฟรนไชส์มาบริหารเอง
โดยจะเลือกเป็นงานเสริมหรืองานหลักเลย
ก็แล้วแต่สะดวก เพราะผู้ซื้อแฟรนไชส์หลาย ๆ คน
ก็เริ่มจากทำเสริมวันละไม่กี่ชั่วโมง พอเห็นว่า
รายได้เริ่มไหลเข้ามา ก็ขยายเวลาเปิดให้บริการ
เพื่อสนองและเพิ่มฐานลูกค้าไปในตัว
สำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์แล้ว จุดตัดสินใจหนึ่งที่น่าสนใจ
คงหนีไม่พ้นเรื่องราคา ซึ่งวันนี้ขอกล่าวถึงสักเล็กน้อย
เพื่อให้หลายคนเริ่มเกิดจินตนาการ เห็นภาพในอนาคต
และเริ่มวางแผนให้กับตัวเอง
1. แฟรนไชส์เริ่มต้นที่หลักพัน
เหมาะกับคนที่ไม่อยากลงทุนสูง
อาจจะเพราะงบน้อย หรือกล้า ๆ กลัว ๆ
จึงเริ่มจากเป็นเจ้าของธุรกิจขาดเล็กเสียก่อน
ซึ่งแฟรนไชส์ในระดับนี้ ที่เห็นกันมาก ๆ เลย
ก็จะเป็นร้านขนมหรือร้านชา กาแฟ
ซึ่งจะเน้นไปทางอาหารรองมากกว่าอาหารหลัก
สิ่งที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะได้ ก็เป็นพวกอุปกรณ์
เครื่องมือทำอาหาร และวัตถุดิบเริ่มต้นจำนวนหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น แฟรนไชส์ลูกชิ้นปลา,
แฟรนไชส์สเต๊ก,แฟรนไชส์ขนมปังปิ้ง เป็นต้น
2. แฟรนไชส์เริ่มต้นที่หลักหมื่น
จะว่าไปแล้วแฟรนไชส์หลักพันกับหลักหมื่นนี่
แทบไม่ต่างกันในเงื่อนไข หากแต่ส่วนที่แพงขึ้นมา
ก็คือส่วนที่ได้เพิ่มเช่นกัน เช่น ป้ายไวนีล
ป้าย X-stand,ป้าย J-Flag และเครื่องมืออุปกรณ์
ที่จำเป็นพ่วงไปด้วยในราคาดังกล่าว
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแฟรนไชส์หลักพันและหลักหมื่น
จะเป็นลักษณะขายส่งวัตถุดิบด้วย หรือ เป็นพวก
Product franchise กล่าวคือ ยังไม่ได้มีระบบบริหารร้าน
เข้าไปครอบอีกทีครับ
3 แฟรนไชส์หลักแสนหลักล้าน
มาถึงขั้นนี้เริ่มเข้มขึ้นมาเยอะเลยครับ
เพราะเรากำลังพูดถึงเงินระดับแสนและล้าน
หากเลือกแฟรนไชส์ไม่ดี หรือทำแล้วไม่มีกำไร
เงินทองที่สะสมไว้ก็จะมลายในพริบตา
แฟรนไชส์ระดับนี้มักมีค่าแบรนด์แฝงมาด้วย
รวมทั้งมีระบบจัดการร้าน เช่น POS ,ระบบบัญชี
เข้ามาให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์เรียนรู้ เรียกได้ว่าเป็น
การขายทั้งระบบ ที่เรียกว่า “Business format Franchise”
ผู้ขายแฟรนไชส์สามารถเรียกเก็บค่าดูแลได้ทุกเดือน
ส่วนผู้ซื้อแฟรนไชส์ก็ต้องเตรียมจ่ายทุกเดือนเช่นกัน
จึงมั่นใจได้ว่า จะได้รับการดูแลอยู่เสมอเพราะมีการ
จ่ายค่าบำรุงรักษา หรือดูแลระบบให้ทุกเดือน
ลองนึกถึงร้านกาแฟ Amazon หรือร้าน 7-Eleven
ก็จะเห็นภาพคร่าว ๆ ว่าประมาณไหนและร้องอ๋อทันที
ถึงแม้ว่าการซื้อแฟรนไชส์จะเหมือนการส่งต่อ
ความสำเร็จให้กันและกัน แต่การซื้อแฟรนไชส์มาแล้ว
กลับเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจเท่านั้น
และมันก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ซื้อแฟรนไชส์
จะประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องลงมือบริหาร
จัดการใด ๆ เลย
มิหนำซ้ำยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผล
ต่อการอยู่รอด ทั้งปัจจัยภายใน เช่น ความรู้ในการ
ทำธุรกิจของเจ้าของ,ความตั้งใจจริง,ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ,
การรักษามาตรฐานและอื่น ๆ และปัจจัยภายนอก
เช่น เศรษฐกิจโลก ,การเมือง, การแพร่ระบาดของไวรัส
,การมีข่าวยิงกันตามศูนย์การค้าหรือแหล่งที่ผู้คน
พลุกพล่าน เมื่อเกิดกรณีแบบนี้ถี่ขึ้น แม้แต่ห้างดังหรือ
ทำเลทองก็อาจกลายเป็นห้างร้างได้ในชั่วข้ามคืน
และอื่น ๆ ที่พร้อมจะส่งผลให้พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนแปลง
การลงทุนซื้อแฟรนไชส์กับแบรนด์ใดก็ตามที่เปิดมานาน
หรือมีความเข้มแข็งในการรับมือกับทุกสภาวะ
จึงเป็นทางเลือกที่ดีไม่ใช่น้อยสำหรับผู้สนใจลงทุนทุกระดับ
เพราะได้ผ่านการลองผิด ลองถูกมาหลายฝนหลายหนาว
แต่ในทางตรงกันข้ามแฟรนไชส์ที่เกิดใหม่
ยังตั้งไข่ได้ไม่ถึงขวบปี แต่เร่งขยายสาขาใหเครอบคลุมนั้น
อาจจะไม่เคยรับมือปัญหาหนัก ๆ จึงให้คำปรึกษาไม่ค่อยจะได้
หน้าที่สำคัญในการดูแลให้เงินลงทุนงอกงาม
จึงไม่ใช่ของใครที่ไหน นอกจากผู้ซื้อแฟรนไชส์ตาดำ ๆ
ทุกท่านนั่นเองครับ
ขอบคุณครับ
ธนบรรณ สัมมาชีพ
======
พื้นที่โฆษณา… คอร์สออนไลน์
“พื้นฐานแน่น แฟรนไชส์ปัง”