แม้แต่อัจฉริยะก็ต้องเริ่มจากศูนย์

“ไม่มีอัจฉริยะคนไหนไม่เริ่มต้นจากศูนย์”
หากจุดเริ่มต้นคือศูนย์และเส้นชัยคือหนึ่งร้อย
กระบวนการจากศูนย์ถึงร้อยย่อมไม่ง่าย
แต่การไม่ล้มเลิกกลางคันย่อมเป็นเครื่องการันตี
ว่าเรายังอยู่ในเส้นทางแห่งชัยชนะ แค่ช้าเร็วต่างกัน

เมื่อครั้งเรียนครุศาสตร์อุตสาหกรรม
อาจารย์สอนเสมอว่าการเรียนรู้คือ
การทำให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม”
แยกกันให้ออกนะครับระหว่าง
การศึกษา(Education) กับ การเรียนรู้ (Learning)

เรื่องการศึกษาขอไม่เอ่ยถึงนะครับ
เพราะคำนี้น่าจะรู้จักกันดี
แต่วันนี้ขอเรื่องการเรียนรู้กันให้ลึกขึ้น
จนผู้อ่านเห็นความสำคัญ และลงมือทำ
เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขึ้นจริง ๆ

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต้องมีเรื่องการฝึก
เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพื่อให้บรรลุผลสูงสุด
จริงที่อัจฉริยะกับคนธรรมดาเริ่มต้นจากศูนย์
แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป สิ่งที่ทำให้เกิดช่องว่างมากขึ้น
คือ การฝึกฝนและวินัย

วันนี้ขอปูพื้นพฤติกรรมการเรียนรู้แบบมีทฤษฎีนิดหน่อย
ซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ
1. ด้านสมอง (พุทธิพิสัย – Cognitive domain)
2. ด้านกล้ามเนื้อ (ทักษะพิสัย – Phychomotor domain)
3. ด้านจิตสำนึก (จิตพิสัย – Affective domain)

เพื่อประกอบความเข้าใจอย่างไม่ยาวมาก
ผมขอตัดในส่วนของด้านกล้ามเนื้อ (ทักษะพิสัย)
มาอธิบายลำดับชั้นดังนี้
1. การรับรู้
2. การลอกเลียนแบบ
3. การปฏิบัติได้เองด้วยวิธีที่ถูกต้อง
4. การกระทำอย่างต่อเนื่อง
5. การกระทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ

ยกตัวอย่าง เช่น นักดนตรีฝีมือระดับโลก
ก็จะมีขั้นตอนเริ่มต้นจากศูนย์เหมือนคนทั่วไปคือ
1. การรับรู้ภาคทฤษฎี หลักการที่เป็นวิทยาศาสตร์
เช่น เรียนทฤษฎีดนตรี การจับคอร์ด โน้ตดนตรี
2. การลอกเลียนแบบ พอรู้ทฤษฎีแล้วก็ลองทำตาม
อาจจะตามคลิปใน youtube หรือตามครูผู้สอน
3. พอเลียนแบบได้ ก็เริ่มทำได้เองโดยไม่ต้องมีใคร
คอยกำกับอีกต่อไป

ทีนี้คนธรรมดากับพวกอัจฉริยะ(จริง ๆ คือพวกฝึกหนัก)
มักจะโดนแยกกันตรงนี้แหละครับ
ถ้าเทียบก็เหมือนคนเล่นดนตรีพอจีบสาวได้
ไม่ขอฝึกมากกว่าเดิม พอใจแค่นี้

แต่คนที่ยังลุยต่อ ขอไปให้สุดทาง ยังไปที่ข้อต่อไป
4. การกระทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้พัฒนาทักษะ
ขึ้นไปอีกระดับ ทำได้เร็วขึ้น ทำสิ่งที่ยากขึ้น
นี่คือจุดที่คนทั่วไปเริ่มไปไม่ถึง แต่ยังมีอีกขั้น
ที่พวกอัจฉริยะฝึกต่อไปอีก คือ
5. การกระทำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ
หรือพูดง่าย ๆ คือ อารมณ์แบบ “หลับตาทำ” ก็ยังได้
เล่นกี่ครั้ง ทำกี่ครั้งก็ไม่พลาด ง่ายแบบปอกกล้วยเข้าปาก

พอเห็นภาพขึ้นมั้ยครับ
การเริ่มต้นจากศูนย์ถึงร้อย
ก็แบ่งตามระดับการฝึกได้เช่นกัน
คนที่หมั่นเรียนรู้จึงได้เปรียบในระยะยาว

คนที่ไม่มีวินัยในการฝึก มักผัดวันประกันพรุ่ง
ยอมรับได้กับการล่าช้าส่งผลให้ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
แล้วก็ล้มเลิก

ส่วนคนที่มีวินัยในการฝึกฝน จะนับถอยหลังสู่เส้นชัย
ไม่มีการเลื่อน ไม่มีขยายเวลา รีบล้มรีบลุก
เพราะรู้ดีว่ามีบางสิ่งรออยู่ข้างหน้า
และบางสิ่งที่ว่ามันต้องคุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงแน่นอน

โอกาสหน้าผมจะมาเล่าถึงพฤติกรรมการเรียนรู้
ในแบบอื่นต่อด้วย ไว้เจอกันอีกนะครับ

ขอบคุณครับ
ธนบรรณ สัมมาชีพ
ขอบคุณภาพจาก
Photo by saeed khosravi: https://www.pexels.com/…/woman-in-black-playing-cello…/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *