“นั่งฉลาดทำผลงานให้ได้
ก่อนไปนั่งโง่ ๆ ตามใจปรารถนา”
ขอขยายความคำว่านั่งโง่ ๆ สักนิด เพื่อจะได้
เข้าใจเจตนารมณ์ของบทความนี้
มันคือ การนั่งพักกาย พักใจ อยู่ในสภาวะ
ไม่ต้องทำอะไรเลย เผื่อว่าบางทีการที่ได้คุย
กับตัวเองบ้างอาจจะตกตะกอนอะไรบางอย่าง
และทำให้ชีวิตเดินต่อไปได้
*ไม่ได้หมายถึงนั่งทำอะไรโดยสิ้นคิดหรืองี่เง่า
แล้วไปเดือดร้อนคนอื่นแต่ประการใด*
คนจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาทุกข์ใจ
แล้วก็ใช้เทคนิคการไปนั่งโง่ ๆ เผื่อคิดอะไรออก
หรือหาทางออกในชีวิตเจอ ที่จริงมันก็ไม่ได้
ผิดอะไรหรอกครับ เพราะเทคนิคการระดมสมอง
เพื่อให้ได้ไอเดียใหม่ ๆ ที่มันนอกกรอบก็ต้อง
มีการเปลี่ยนแปลงโลเคชั่น สถานที่ทำงานบ้าง
เหมือนที่บริษัทมักจัดกิจกรรม Outing
เพื่อให้พนักงานได้พักผ่อนหย่อนใจแถมได้
สร้างสัมพันธ์ที่ดีข้ามกลุ่ม ส่งผลดีต่อการติดต่อ
ประสานงาน
ปัญหาคือถ้าไปกับบริษัท มันก็ได้ใช้งบบริษัท
ไม่ได้ควักเองสักบาท แต่การไปเที่ยวเองนี่สิ
มันกินเงินในกระเป๋าไม่ใช่น้อย ยิ่งในปัจจุบัน
บริษัททัวร์มีให้เที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง ยิ่งตัดสินใจ
ไปเที่ยวง่ายขึ้น เรียกได้ว่าสุขใจในวันนี้
แต่กลับมาผ่อนค่าเที่ยวอีกเป็นปีจนหลังอาน
การตัดสินใจแก้ปัญหาตรงหน้าให้ได้
ยอมเหนื่อยล้ากายและใจเพื่อบรรลุเป้าหมาย
ก่อนที่จะเถลไถลออกนอกเส้นทางจึงเป็น
สิ่งจำเป็นอย่างมาก มันคือการมีสมาธิจดจ่อ
อยู่กับงาน มุ่งผลสำเร็จเป็นหลัก เมื่อผลงาน
ได้ตามเป้าหมายแล้วจึงตัดสินใจหยุดพัก
คราวนี้ก็ไม่มีใครว่าได้ อีกทั้งยังรู้สึกดีกับตัวเอง
มากขึ้นเรื่อย ๆ
ตัวอย่างในชีวิตจริงที่เห็นไม่นานมานี้
ที่ผมชอบแนวความคิดของท่านมากคือ
อ.เฉลิมชัยที่สื่อทั้งหลายพากันทำข่าวถึง
ความคิดของท่าน
“กูทำมาเยอะแล้ว ปล่อยวางแล้ว
เพราะรู้จักพอ อยากพักผ่อน อยากใช้ชีวิต
ให้มีความสุข จะเที่ยวอย่างเดียวจนกว่าจะตาย”
อารมณ์เหมือนเกษียณตัวเองจากการทำงาน
ชีวิตที่เหลืออยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร
จะว่าไปมันเป็นไปตามทฤษฏี Hierarchy of Needs.ของ Abraham Maslow กับทฤษฎี
ที่เชื่อว่ามนุษย์จะมีลำดับความต้องการแบ่งออกเป็น 5 ขั้น คือ
1. Physiological Needs ความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค (ปัจจัยสี่)
2. Safety Needs ความต้องการด้านความปลอดภัย
3. Love and belonging Needs ความต้องการเป็นที่รักและเป็นส่วนหนึ่ง
4. Esteem Needs ความต้องการมีคุณค่า
ได้รับการยอมรับ เช่น มีเงินเดือนสูง มียศำแหน่ง
มีการได้รับโอกาสให้เสนอไอเดียอยู่บ่อย ๆ
5. Self-Actualization Needs ความปรารถนาที่จะสามารถเติมเต็มจิตวิญญาณตนเองได้อย่างสมบูรณ์
และที่กล่าวมา ผมจึงเข้าใจทันทีว่าอ.เฉลิมชัย
ได้มาถึงยอดสูงสุดของปิรามิด(ข้อที่ 5)
สุดท้ายนี้เราคงต้องย้อนกลับมาวิเคราะห์ตัวเอง
ว่าเราอยู่ที่ขั้นไหนระหว่างขั้นที่ 1-5 และเมื่อ
มองไปที่ฐานปิรามิด(ข้อ 1)มันยิ่งสะท้อนถึง
ชีวิตจริงที่ไม่เคยง่ายเลย เพราะ ปัจจัยสี่ทั้งหลาย มันต้องใช้เงินทั้งนั้น เมื่อมีเงินมีทองพร้อม
เราก็ขยับไปขั้นต่อไป ระหว่างขั้นแต่ละขั้นนี่แหละ ที่มันคือสีสัน มันทำให้มนุษย์เรามีสถานะ
ทางสังคมแตกต่างกันออกไป
สิ่งที่ตัดสินว่าใครจะสำเร็จมากกว่ากัน
มันคือความสามารถในการแก้ปัญหา
ย้ำว่า “แก้ปัญหา” ไม่ใช่ “หนีปัญหา”
ยิ่งแก้ปัญหาใหญ่ได้ ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น
แถมยังสะสมความมั่นใจอย่างนักรบไร้พ่าย
แต่สำหรับคนที่แก้ปัญหาไม่เก่งก็อย่าเพิ่งท้อใจ
ของอย่างนี้มันฝึกฝนได้ เริ่มจากแก้ปัญหาเล็ก ๆ
จนเกิดความชำนาญแล้วเพิ่มความยากขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อเจอปัญหาใหญ่ยักษ์ก็ให้ซอยย่อยออกมา
ทีละประเด็นเหมือนกินช้างทีละคำ (มอง Big
Picture แล้วค่อยขยี้ทีละปัญหาตามลำดับ
ความสำคัญ)
คนเก่ง คนฉลาด คนสำเร็จทุกคนล้วน
ต้องผ่านกระบวนการแบบนี้มาทั้งนั้น
วันนี้จะไปพักผ่อนทั้งที ต้องได้อะไรแลกเปลี่ยน
กลับมาจากเงินทองและเวลาที่เสียไปอย่างคุ้มค่า
อนึ่ง การทำอะไรตามอำเถอใจมากเกินไป
“ระวังอาจจะเป็นแค่การเปลี่ยนที่โง่
สุขใจระยะสั้น แต่ฝันร้ายไม่เคยจางหาย
กลับไปก็โง่เหมือนเดิม”
จึงเตือนสติเพื่อน ๆ มาด้วยประการฉะนี้แล
ขอบคุณครับ
ธนบรรณ สัมมาชีพ