ขาดระบบจึงระบม ตอนที่ 1

หนังทุกเรื่องย่อมมีพระเอก
เพราะพระเอกแก้ปัญหาได้ดีและแฮปปี้ตอนจบ
การทำระบบบริหารร้านที่ดีย่อมมีพระเอกเช่นกัน
นั่นคือเจ้าชาย “บาร์โค้ด”
(Barcode) โดยมีชื่อไทยว่า “รหัสแท่ง”
แต่ชื่อฟังดูไม่คุ้นหู
จึงขอเรียกชื่อฝรั่งดีกว่านั่นคือ บาร์โค้ด

วัน ๆ บาร์โค้ดทำอะไรบ้าง
ช่วยงานอะไรเราได้จริงหรือ ?
คุณเคยคุยกับชาวต่างชาติไม่รู้เรื่องมั้ยล่ะครับ
ผมเดาเลยว่าคุณต้องคุยจนน้ำลายแห้ง
แถมยังเมื่อยมืออีกต่างหาก
แล้วถ้ามีล่ามสักคนคอยช่วยเหลือ
มันจะไม่ง่ายกว่าหรอกหรือ ?

บาร์โค้ดทำหน้าที่เป็นล่ามให้กิจกรรมของคนและกิจกรรมของคอมพิวเตอร์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว ถูกต้อง แน่นอน แถมยังใช้งานง่าย
สะดวกสบายโดนใจเจ้าของกิจการผู้มองการณ์ไกลเป็นที่สุด

ลองมาดูประโยชน์เป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. #ลดความผิดพลาดเรื่องติดป้ายราคา
ทั้งพนักงานขายและแคชเชียร์มีโอกาสผิดพลาด
(หรือใครก็ตามที่ได้รับมอบหมายให้ติดป้ายราคา)
ยิ่งปริมาณสินค้าจำนวนมหาศาล

เช่น เป็นพันชิ้นแถมยังมีรูปลักษณ์ สีสันกล่องเหมือนกัน
ก็กลายเป็นติดป้ายราคาผิด หากติดราคาสูงไป
ลูกค้าก็ไม่ซื้อ สูญเสียโอกาสในการขายไปไม่รู้เท่าไหร่
ในทางตรงกันข้ามหากติดราคาถูกไปกิจการก็ขาดทุน
(อาจพ่วงประเด็นทุจริตได้ง่าย ๆ)

อ้อ…อีกนิดครับ
กรณีที่เจอลูกค้าซุกซน อยากได้ของดีราคาถูก
จึงสลับสับเปลี่ยนป้ายราคามาหลอกแคชเชียร์
อันนี้ก็สามารถตรวจสอบได้ทันที
เพราะระบบจะอ้างอิงราคาจากฐานข้อมูล
ไม่ใช่ไปอ้างอิงกับราคาที่ป้าย
เจ้าของกิจการก็สบายใจหายห่วงไปอีกเปราะนึง

2. #ลดปัญหาเรื่องป้ายราคาหลุด
หากป้ายราคาหลุด(สติ๊กเกอร์หมดความเหนียว
หรือลูกค้าแกะออก) แคชเชียร์ต้องโทรไปถามที่แผนกว่าราคาเท่าไหร่

หรือที่เห็นบ่อย ๆ คือแคชเชียร์ต้องเดินไปดูที่ชั้นวางสินค้า
ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทั้งวัน แน่นอนว่ากระทบต่อความพึงพอใจลูกค้าแน่ ๆ สุดท้ายยอดขายก็ตกเป็นเงาตามตัว และถ้าแคชเชียร์หรือพนักงานขายเกิดฮั้วกัน ขายราคาถูกออกไปก็เป็นบ่อทุจริตซะอีก

3. #ลดความเสียหายจากเรื่องราคาขาย
นึกภาพร้านโชห่วยที่ไม่มีระบบขายหน้าร้าน
(POS : Point of sale)
กับร้านแฟรนไชส์หมื่นสาขาอย่าง 7Eleven ดูสิครับ
คุณคิดว่าร้านที่ขายด้วยมือนั่งกดเครื่องคิดเลข
กับร้านที่ควบคุมด้วยระบบบาร์โค้ด
ใครจะมีโอกาสพลาดมากกว่ากัน ?

เมื่อเราไม่มีบาร์โค้ดช่วย
เราก็ต้องบันทึกราคาสินค้าเองโดยหลักการง่าย ๆ
ของยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกันก็ต้องขายราคาเดียวกัน
แต่ถ้าเปลี่ยนแคชเชียร์หรือพนักงานขายหลายกะ
หรือทำงานลากยาวหลายชั่วโมงจนสมองอ่อนล้า
มันย่อมมีโอกาสผิดพลาดใช่หรือไม่

ทุกครั้งที่ขายผิดราคา
ย่อมทำลายความน่าเชื่อถือของกิจการ
ลูกค้าอาจเอาไปบอกต่อหรือไม่ไว้ใจ
ไม่กลับมาใช้บริการอีก
นี่ยังไม่รวมพนักงานขี้ฉ้อที่นอนรอโกงอยู่นะครับ
เขาทุจริตเงินส่วนต่างได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากเลยล่ะ
รูเบ้อเร่อเลย !!!

(วันนี้พอแค่นี้ก่อน แล้วจะมาต่ออีกวันหลัง)

ขอบคุณครับ

ธนบรรณ สัมมาชีพ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *