ทำแต่งาน…ลืมทำเงิน ?

อ้าว…มันก็อันเดียวกันไม่ใช่เหรอ ?
ไม่ทำงานแล้วจะเอาที่ไหนมากินข้าว
เอาที่ไหนไปดูหนังฟังเพลง เที่ยวรอบโลก
ก็ต้องนั่งปั่นเงินงก ๆ ก่อนค่อยไปใช้สอยสิเออ

วันนี้คุณเงินเดือนเท่าไหร่ครับ ?
9,000
15,000
30,000
100,000
<100,000
ไม่ว่าจะเท่าไหร่ ? ถามต่ออีกนิดว่า
พอกินมั้ยครับ พอเที่ยว พอดื่มสักนิดมั้ย ?
และมีเงินเก็บนอนในบัญชีสักหน่อยมั้ย ?

นั่นกำลังสื่อว่างานที่ทำอยู่ทุกวันนี้
ผลตอบแทนของมันคุ้มค่ากับเวลาที่ทุ่มไปหรือไม่
มันทำให้คุณไม่เป็นหนี้ใครใช่มั้ย
ไม่ต้องหลบหน้าเจ้าหนี้ทุกเดือนใช่มั้ย
แค่คิดก็ระทมหัวใจทั้งสี่ห้องแล้ว

บางคนบอกว่างานประจำที่ทำอยู่
แม้ได้เงินไม่เยอะแต่เป็นงานที่ชอบ
จึงต้องทำเพื่อเก็บประสบการณ์
อันนี้ ผมเห็นด้วยนะครับ
เพราะเป็นแผนการเก็บเกี่ยวความรู้
ที่จะนำไปต่อยอดสู่อนาคตที่วาดไว้

แต่ถ้าผ่านไปสิบปีแล้วยังมานั่งบ่น
ว่าชีวิตห่วย เจ้านายกาก งานไม่จรรโลงใจ
ที่ทนทำก็หวังเงินเดือนขึ้นปีละ 5-10%
แล้วแต่อารมณ์ของบริษัท
แบบนี้โคตรไม่เวิร์คครับ

คิดใหม่ ทำใหม่เหอะ
คิดเงินให้ได้เงิน คิดทองให้ได้ทอง
งานที่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปและยังได้เงินใช้อีกด้วย
แค่คิดก็สนุกแล้ว จริงมั้ยครับ

วันนี้ถ้าคุณเงินเดือน 30,000 บาท
เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 1,000 บาท
วันนึงทำงานวันละ 8 ชม.
ก็ตกที่ชั่วโมงละ 125 บาท
ไม่มีภาระหนี้สินเยอะ ก็อยู่ได้สบาย ๆ

แต่ถ้ามันไม่พอใช้หรืออยากเกษียณเร็วขึ้น
คุณก็ต้องทำเงินต่อชั่วโมงให้มากกว่านี้ใช่หรือเปล่า
บางคนรับจ้างสอนดนตรีได้ชั่วโมงละ 400-500 บาท
รับจ้างสอนพิเศษได้ชั่วโมงละ 300 บาท
เป็นวิทยากรพิเศษในวันหยุดได้วันละ 30,000 บาท
(เท่ากับทำงานทั้งเดือน แถมสอนแค่ 6 ชม.)
แบบนี้มันไม่เรียกว่าโคตรคุ้มค่ากว่าเหรอครับ

ดังนั้นหากต้องกิน ต้องใช้ ลูกยังเรียน
ก็ต้องดิ้นกันต่อไปตามกระแสโลกดิจิตอลปัจจุบัน
ที่เรียกการทำงานรูปแบบใหม่ว่า Gig Economy
ซึ่ง Gig นี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมขอเล่าโดยสังเขปว่า
มันคือการทำงานแบบรับจ้างระยะสั้น งานชั่วคราว
ถ้าศัพท์ฝรั่งก็จะเรียกว่าพวก Freelance, Outsource
Part time ฯ

การทำงานแบบยืนควบ 2 ขา นั้นสามารถทำได้
ด้วยการบริหารจัดการที่ดีเท่านั้น
1. คือขางานประจำ
2. คือขา Gig Economy
เพื่อผลลัพธ์ดังนี้
A. ได้งานที่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป
B. ได้งานที่ชอบและเลี้ยงตัวรอด
C. ต้นทุนชีวิตสูงก็ต้องหาเพิ่ม(ทั้งลดและหาเพิ่มจะยิ่งดี)

การคิดแบบคนทำเงินเพิ่มนั้นต้องมีขั้นตอนชัด
และแตกต่างจากคนที่มุ่งทำแต่งานอย่างเดียว
ผมขอยกตัวอย่างดังนี้
#การคิดแบบคนทำเงิน
ตั้งเป้าว่าต้องหาเงิน เดือนละเท่าไหร่ เช่น 10,000 บาท
ก็จะวางแผนทันทีว่าจะหาโครงการไหนมารองรับ
1. ทำ E-book ขายได้เดือนละ 2,000 บาท
(ไม่ลงทุนมาก)
2. ทำคอร์สออนไลน์ได้เดือนละ 5,000 บาท
(ไม่ลงทุนมาก)
3. ขายของออนไลน์ได้กำไรเดือนละ 3,000 บาท
(ต้องลงทุนสต๊อกของ)
มีมันเป็นรูปธรรมก็สามารถลงมือทำได้ทันที
หากมีโครงการไหนตกเป้าก็ขยับ ปรับเปลี่ยนได้ตามเหมาะสม

หวังว่าหลายท่านคงเกิดไอเดียพุ่งขึ้นมา
ทำงานและทำเงินให้มากขึ้นได้
วันนี้แม้ไม่ได้เยอะอย่าไปท้อ
วันข้างหน้ามันยังอีกไกล
อย่าไปคิดว่าหย่อนเมล็ดพืชในวันนี้
แล้วพรุ่งนี้มันจะออกดอกออกผล
มันต้องใช้เวลาฟูมฟักอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

ตัวผมเองนั้นเป็นหุ้นส่วนของบริษัทแฟรนไชส์ไอทีเบอร์หนึ่งของไทย
ทั้งยังทำงานประจำที่ออฟฟิศแต่ก็ใช้เวลาหลังเลิกงาน
ทำหลายอย่างมาก ทั้งเป็นนักเขียน ,วิทยากรออนไลน์
ทั้งเปิดสอนสดเพื่อเพิ่มช่องทางการทำเงินมากขึ้น
คือเริ่มใช้เวลาไปกับสิ่งที่ชอบและได้เงินด้วยมาพักใหญ่แล้ว

การจัดการกับชีวิตค่อนข้างสำคัญ
Elon Musk เคยกล่าวว่าให้ทำงานแทบตาย
แต่ในวันนึงสมองของเรารับได้ไม่เกิน 12 ชม.หรอกครับ

คุณต้องมีหนัก เบา พักผ่อน ให้เวลากับการพักผ่อน
ร่างกายไม่ใช่เครื่องจักร หาเงินแทบตายแต่ไม่ได้ใช้
จะหาไปเพื่ออะไร

คำตอบของ “ทำแต่งาน…ลืมทำเงิน ?”
จึงอยู่ตรงที่ว่าคุณมุ่งมั่นพอหรือเปล่า
ถ้าแน่วแน่ก็แค่ลุย
ผมอาสาเป็นเพื่อนร่วมทางเอง

ขอบคุณครับ

ธนบรรณ สัมมาชีพ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *