คำว่า “อัตตา” มิใช่คำไทยแท้ แต่เป็นภาษีบาลีที่คนไทยคุ้นหู คุ้นตา และ คุ้นปากกันเป็นอย่างดี ใครที่คิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองแน่ ตัวเองเป็นหนึ่งในตองอู หรือคิดว่าตูเป็นมืออาชีพ ชอบทำอะไรวันแมนโชว์ ฟังใครไม่เป็น คิดว่าตัวเองถูกอยู่คนเดียว เราเรียกคนประเภทนี้ว่า “คนมีอัตตา” ถ้าจะให้ทันสมัยหน่อยก็เรียกว่า คนมี อีโก้/Ego สูง..
อัตตา อีโก้ อหังการ..
ที่นำมาใช้ในภาษาไทยมีความแตกต่างกันเฉพาะตัวอักษร หากความหมายเหมือนกันคือคนผู้คิดว่าตนเองคือศูนย์กลางของโลก ศูนย์กลางของความเก่ง ศูนย์กลางความเลิศเลอเพอร์เฟ็คท์ หรือเลิศสะแมนแตนไปเสียทุกเรื่อง คนที่มีอัตตา อีโก้ อหังการมาก ก็ทุกข์มาก มีน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่มีเลยก็ไม่ทุกข์..
ทั้งๆที่อัตตาเป็นรากฐานแห่งความทุกข์ทั้งปวง คนเราก็หาได้พยายามลดละอัตตากันไม่ ตรงกันข้าม กลับแสดงออกซึ่งอัตตาของตนอยู่ทุกหนทุกแห่ง..
ศิลปินแสดงอัตตาของตนผ่านผลงาน ลายเซ็น คำพูด หรือท่วงท่าลีลาที่แสดงออกต่อสาธารณะ
นักการเมืองแสดงอัตตาของตนด้วยการมีรถนำขบวนหลายคันหรือการมีบ้านโตๆ มีบริวารมากๆ..
พระเกจิอาจารย์บางรูปแสดงอัตตาด้วยการไปไหนช้ากว่าเวลานัดหมายเพื่อให้คนอื่นรอนานๆ จะได้เห็นว่าตนเป็นคนสำคัญ..
ซูเปอร์สตาร์บางคนแสดงอัตตาผ่านท่วงท่าลีลาการแสดงที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ จนไม่สนใจวัฒธนธรรมคนดู ดังเช่น ไมเคิล แจ๊คสัน กับท่วงท่ามหัศจรรย์ของเขา ที่ใครเห็นก็ต้องเบือนหน้าหนี แต่เขากลับชอบ สะใจ และมั่นใจในตัวเองยิ่งขึ้น..
น่าสังเกตว่าคนที่มีอัตตาสูงและพยายามแสดงอัตตาของตนล้วนเป็นคนเก่ง..
แต่ยิ่งเก่งบางทียิ่งทุกข์ เข้าทำนองเก่งมากก็ทุกข์มาก เพราะอัตตาที่เขาหรือเธอแสดงออกมาไปกดข่มอัตตาของคนอื่นเข้านั่นเอง ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ไม่มีใครอยากเห็นตนเป็นคนต่ำต้อย ทุกคนอยากได้รับการยอมรับกันทั้งนั้น พอมีคนเก่งเกินหน้าเกินอัตตาของตน ก็เลยถูกหมั่นไส้ชิงชังเป็นธรรมดา..
ทางโลกเห็นว่าการมีอัตตาเป็นของดี..เพราะมันบอกอยู่ในทีว่าเขาเป็นคนสำคัญ..
แต่ทางธรรมท่านสอนให้ปล่อยวางอัตตา เพราะอัตตาคือที่มาของความทุกข์พื้นฐานทั้งหมดในจิตใจมนุษย์ ท่านพุทธทาสภิกขุสอนเรื่องอัตตา(ตัวกู ของกู)และการละอัตตาโดดเด่นที่สุดในประเทศไทย จนลือกันว่าวิธีการสลายอัตตาของท่านชะงัดนัก ชะงัดอย่างไร ลองอ่านจากตัวอย่างดังต่อไปนี้..
เศรษฐีนีคนหนึ่งเคยบริจาคเงินร่วมทำบุญกับท่านพุทธทาส หลังจากห่างหายไปนานหลายปี หล่อนพร้อมคณะจึงมีเวลาแวะเวียนไปนมัสการท่าน..
ท่านพุทธทาสนั่งต้อนรับอยู่ที่ม้ายาวบริเวณหน้ากุฎิ หล่อนเชื่อมั่นว่าท่านเจ้าสำนักแห่งสวนโมกข์คงจะจำตนได้เป็นอย่างดี เพราะเคยเป็นผู้บริจาครายใหญ่ของสวนโมกข์มาก่อนแล้วหลายต่อหลายครั้ง..
มาคราวนี้หล่อนแอบหวังอยู่ในใจลึกๆว่าต้องหาทางแสดง “ความสำคัญ” ของตน(อัตตา)ให้เป็นที่ปรากฎต่อธารกำนัลเสียหน่อย หลังจากกราบแล้วจึงนมัสการถามท่านพุทธทาสที่นั่งสงบอยู่ตรงหน้าว่า..
“หลวงพ่อจำดิฉันได้มั้ยเจ้าคะ”
ท่านพุทธทาสยิ้มก่อนตอบเรียบๆตามสไตล์ของท่านว่า..
“จำไม่ได้หรอกโยม”
======
Cr. คัดลอกจากหนังสือธรรมะติดปีก
ของท่าน ว.วชิรเมธี
ขออนุญาตเผยแพร่เป็นธรรมทาน
และเพจธรรมเป็นก็เย็นใจ
ขอบคุณครับ
ธนบรรณ สัมมาชีพ