รู้สึกปวดใจทุกครั้งที่เห็นลูกค้าของตัวเอง
แห่ไปซื้อสินค้ากับคู่แข่งแบบไม่เหลียวหลัง
ให้ทางเซลล์ส่งโปรโมชั่นต่าง ๆ ไปก็ไม่ได้รับ
การตอบสนองแต่อย่างใด
เมื่อสิ้นปีเห็นคู่แข่งพาลูกค้าเราไปเที่ยวเกาหลี
ยิ่งรู้สึกร้าวลึกขึ้นไปอีก จนอดสงสัยไม่ได้ว่า
อดีตลูกค้าของเราไปต้องมนต์สะกดอันใดจากคู่แข่งหรือไม่
เมื่อมานั่งคิดคำนวณดู
ราคาขายของเรากับของคู่แข่งก็ขายราคาเดียวกัน
กำไรมันก็น่าจะสูสีกัน
แล้วเจ้าคู่แข่งเอาเงินที่ไหนไปจัดทัวร์เกาหลีดึงลูกค้า
ของเราไปซะเกลี้ยง
แบบนี้ต้องเล่าสู่กันฟังสักหน่อยละครับ
หัวใจของระบบแฟรนไชส์ที่ต้องควักออกมาให้ได้
นั้นคือ Economies of scale เรียกเป็นไทยว่า
“ความได้เปรียบจากขนาด”
ซึ่งมันเกิดจากเมื่อยอดขายของบริษัทมีมากขึ้น
แล้วส่งผลให้ต้นทุนโดยรวมลดลง
และต้นทุนคงที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม เช่น ค่าเสื่อมราคา
ของเครื่องจักรหรือโรงงานเท่าเดิม ค่าเช่าอาคารเท่าเดิม ค่าเช่าโกดังเท่าเดิม
โอกาสที่บริษัทจะทำกำไรก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
สร้างความแข็งแรง เบียดเอาชนะคู่แข่งได้ไม่ยาก
เพราะแค่เคาะราคาลดลงเพื่อดึงลูกค้า
ก็อาจเสียกำไรนิดหน่อย แต่ประหยัดค่าการตลาด
จากการที่ลูกค้าปากต่อปากเรื่องราคาเป็นการทดแทน
ผลดีของการได้เปรียบ Economies of scale
ยังมีอีกเยอะ เมื่อซื้อของปริมาณเยอะ ๆ
ทางซัพพลายเออร์ก็เกรงใจเพราะเป็นลูกค้ารายใหญ่
เมื่อร้องขออะไรมาก็จะรับไว้พิจารณาเป็นพิเศษ
อย่างกรณีที่เล่าสู่กันฟังเรื่องพาลูกค้าไปทัวร์เกาหลี
ย่อมเกิดขึ้นได้เมื่อทางซัพพลายเออร์ได้ยอดขายตามเป้า
เป็นที่น่าพอใจ เรียกว่า win win win
♡เมื่อเราได้ยอดขาย
♡ซัพพลายเออร์ได้ยอดซื้อ
♡ลูกค้าได้ไปเที่ยว
มันก็จะเกิดส่วนผสมที่ลงตัว
โดยที่เราเองไม่ได้ควักตังค์สักบาทเดียว
เยี่ยมมั้ยล่ะครับ ?
ผมขอยกตัวอย่างอีกเคสนึงที่เห็นภาพชัดเจน
นั่นคือ แฟรนไชส์ธุรกิจสินค้าราคาเดียว
เช่น ทุกอย่าง 20 บาท ,ทุกอย่าง 60 บาทบ้างก็ว่ากันไป
คิดดูนะครับว่าเขาขายราคาแค่ 20 บาทได้อย่างไร
โดยที่คุณภาพก็ถือว่าไม่ได้ขี้ร้าย ขี้เหร่
นั่นเกิดจากการใช้ Economies of scale ทั้งนั้น
เพราะหากไม่ผลิตเยอะจริง คงไม่ได้เกิดแน่
เอาล่ะถึงตาคุณแล้ว
ในธุรกิจของคุณที่จะปั้นเป็นระบบแฟรนไชส์
สามารถนำความได้เปรียบ Economies of scale
ไปใช้ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดได้หรือไม่
หากยังคิดไม่ออก
นั่นแสดงว่าเรายังไม่พร้อมครับ
ขอบคุณครับ
ธนบรรณ สัมมาชีพ