ฝ่ายที่จัดได้ว่าชี้เป็น ชี้ตายอนาคตบริษัทได้
อีกฝ่ายหนึ่งคงไม่พ้นจัดซื้อนี่แหล่ะครับ
เพราะเป็นต้นทางในการนำสินค้าเข้ามาสู่คลัง
ซึ่งมันจะคล้ายงาน HR ตรงที่ ตั้งแต่งานสรรหาบุคลากร
ถ้าได้บุคลากรที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาทำงานด้วย
มันก็ยากที่จะพัฒนา หนำซ้ำทำให้องค์กรทรุดลงอีกด้วย
การนำสินค้าที่ดี มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมที่สุด
เข้ามาสู่ธุรกิจจึงเป็นปราการด่านแรกที่สำคัญ
เมื่อต้นน้ำมาดี ปลายน้ำก็ดีไปด้วย มีความสุขทั้งคนซื้อเข้าและคนขายออก เจ้านายยิ้มแก้มปริ ปูนบำเหน็จกันยกใหญ่หัวปี ท้ายปี
แต่อนิจจา… โลกแห่งธุรกิจ
ว่าด้วยยึดผลประโยชน์เป็นที่ตั้งมันไม่ได้ง่ายดายเพียงนั้น
มันก็ย่อมมีทั้งสินค้าขายดี ขายไม่ดี
ไอ้ที่สินค้าขายดีคงไม่ต้องมาพูดถึงให้มากความ เพราะวัน ๆ
ต้องนั่งดูว่าทำอย่างไรไม่ให้สินค้าขาดสต๊อก
ดังนั้นตัวที่มันติดสต๊อกนี่สิมันเกิดปัญหาอะไรขึ้น
หมีขาว เป็นนักจัดซื้อผู้มากประสบการณ์
รู้จักซัพพลายเออร์หรือตัวแทนจำหน่ายมากหน้าหลายตา
จึงทำให้เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้า เงินเดือนของเขาไม่กี่หมื่นแต่ขับรถหลักล้านมาทำงาน
ดูเผิน ๆ ก็ไม่น่าจะไปอะไรกับเขามากเพราะมันเรื่องส่วนตัว แต่ทำไมหนอ ? สถานการณ์ในช่วงนี้ที่บริษัทจึงมีสินค้าค้างสต๊อก(Dead stock) เป็นจำนวนมาก จนทำให้สภาพคล่องของบริษัทต้องลดลงเพราะเงินไปจมอยู่กับของขายไม่ออกเหล่านี้
#สูดกลิ่นโกง
คู่ค้าที่สนิทกันมาก ๆ ถึงขนาดพาเจ้าหมีขาวของเราไปนั่งกินกาแฟแก้วละร้อยบ่อย ๆ อันนี้สุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมาก
เพราะอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน
ลองสมมุติเหตุการณ์คร่าว ๆ ดังนี้ว่า
เคยสั่งอะไหล่ A จากเฮียลิงมาขายในราคาชิ้นละ 100 บาท
แต่เฮียลิงเสนอว่าเดี๋ยวขายให้ชิ้นละ 99.50 บาท
ส่วนต่างเกิดขึ้นชิ้นละ 50 สตางค์
ถ้าเจ้าหมีขาวซื้อสัก 5,000 ชิ้น
ก็เท่ากับได้เงินไปกินขนมทันที 5,000×0.50= 2,500 บาท
เห็นช่องแล้วใช่มั้ยครับ แต่ก็อย่างว่า
ตบมือข้างเดียวมันคงไม่ดัง
ในทางปฏิบัติเจ้าหมีขาวอาจเป็นคนขอเฮียลิงแบบหน้าด้าน ๆ ก็ได้ใครจะไปรู้เล่า
#ส่วนอีกเคสนะครับ
สมมุติว่าสินค้า B เคยซื้อกับเฮียลิงปีที่แล้วที่ชิ้นละ 200 บาท
มาปีนี้สินค้า B เริ่มมีคนนำเข้ามาขายเยอะขึ้น ราคาตลาดมันเลยอยู่ที่ชิ้นละ 190 บาท ส่วนต่างชิ้นละ 10 บาทเริ่มผุดขึ้นมา
แต่เจ้าหมีขาวก็ยังดันทุรังซื้อกับเฮียลิงอยู่ ด้วยเหตุผลคือ คุณภาพดีกว่า บริการหลังการขายดีกว่าแถมยังซื้อขายกันมานาน เชื่อใจได้เหมือนพี่ เหมือนน้อง
#เอาล่ะสิ…
ถ้าเผื่อเจ้าหมีขาวยังซื้อสินค้า B เข้ามาอีก 1,000 ชิ้น
มันก็มีส่วนต่างทันที 1,000×10 = 10,000 บาท
บ๊ะ เงินก้อนโตขนาดนี้ คุณจะไม่ลงแรงลงไปตรวจสอบซะหน่อยเหรอครับ
#ล้อมคอกก่อนวัวหาย
ต้องมีคนที่คอยสำรวจราคาตลาดอยู่เสมอว่า
สามารถแข่งขันได้หรือไม่ สินค้ารุ่นเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน
ทุกอย่างเหมือนกันหมดถ้าขายแพงกว่าชาวบ้านใครเขาจะมาซื้อ
มันคือต้นตอของสินค้า Dead stock เห็น ๆ เลย
บริษัทที่มีกฎเข้มแข็งเรื่อง ไม่ให้พนักงานฝ่ายจัดซื้อออกไปทานข้าวกับซัพพลายเออร์หรือรับรางวัลมาเป็นของส่วนตัว
จะสามารถควบคุมเรื่องนี้ได้ดีกว่าบริษัทที่ปล่อยปะละเลย
มีบางคนมองมุมต่างว่า การที่พนักงานจัดซื้อได้รับรางวัลจากซัพพลายเออร์ หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ จากคู่ค้านั้นมาจากฝีมือการติดต่อประสานงานกันของเขา ก็ควรได้รับผลประโยชน์ข้อนี้ไปมิใช่หรือ
#งั้นลองมองแบบนี้นะครับ
ฝ่ายจัดซื้อไม่สามารถทำงานฝ่ายเดียวได้หรอก
มันต้องอาศัยฝ่ายอื่นร่วมด้วยเช่น เมื่อคุณซื้อเข้ามาก็ต้องอาศัยฝ่ายคลังสินค้าในการรับสินค้า
จากนั้นก็ส่งต่อให้ฝ่ายต่าง ๆ เช่น ฝ่ายขาย
จะได้รีบผลักดันสินค้าออกไปที่หน้าร้าน
จากนั้นก็จะเป็นทีมขายหน้าร้านอีกเป็นร้อยเป็นพันคนที่ต้องเสนอขายลูกค้าแทบทุกวัน
เมื่อได้เงินมาก็ส่งต่อฝ่ายการเงิน บัญชี
… เยอะแยะเต็มไปหมด
จะเห็นว่ากว่าสินค้าจะออกจากคลังสินค้าไปสู่มือลูกค้าได้นั้น
เป็นผลงานของทีมหรือการร่วมใจกัน ไม่ใช่แค่ฝ่ายจัดซื้อเท่านั้น
ผลประโยชน์ที่ควรได้จากบรรดาซัพพลายเออร์จึงต้อง
แบ่งสรร ปันส่วนอย่างยุติธรรม ทั่วถึงทุกคน
จากประสบการณ์ผู้เขียน การนำรางวัล
สินน้ำใจจากซัพพลายเออร์มาจับฉลากปีใหม่หรือตรุษจีน
ก็เป็นสิ่งที่ทำได้และได้จัดทำเสมอมา ทำให้พนักงานเข้าอก เข้าใจกัน
ไม่ใช่มุบมิบไว้คนเดียว กินจนอ้วน แต่ฝ่ายอื่นผอมเอา ๆ ครับ
ขอบคุณครับ
ธนบรรณ สัมมาชีพ