กิจการร้านค้าใดก็ตามที่ไม่มีระบบบริหารจัดการร้าน
มักจะเป็นแหล่งรวมโรคทุจริตทุกสายพันธุ์
เพราะรูโหว่เยอะมากจนถึงขนาดที่ทำให้คนที่ไม่เคยทุจริต
หรือคิดโกงมาก่อน ต้องขอลองโกงดูบ้าง
เดี๋ยวจะหาว่าเชย ไม่ทันยุคสมัย
สิงโต เป็นเจ้าป่าเพราะอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร
ผู้จัดการร้านหรือผู้จัดการสาขาก็เช่นกัน
เพราะดูแลทุกข้อต่อของโซ่(เปรียบดังฝ่าย/แผนก)ให้ทำงานร่วมกันได้จนขายดี มีกำไร
เมื่อต้องรับผิดชอบมากมายครอบจักรวาลซะขนาดนี้จึงขอขนานนามผู้จัดการในบทนี้ว่า พี่สิงโตก็แล้วกัน
ลองดู Job Description(คำบรรยายลักษณะงาน) อย่างคร่าว ๆของพี่สิงโตดูนะครับว่าผู้จัดการร้านทั่วไปเขาต้องทำอะไรบ้าง
1. บริหารร้าน จัดดิสเพลย์ร้านให้สวยงาม ทันสมัย
2. ดูแลความเรียบร้อยของร้านให้เป็นไปตามมาตรฐาน
3. ถ่ายทอดนโยบาย คำสั่ง กฎระเบียบ ข้อบังคับการทำงานไปยังพนักงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชา
4. บริหารสินค้าพร้อมขายและสินค้าคงคลัง
5. สอนงานและดูแลความเรียบร้อยพนักงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชา
6. บริหารยอดขายและกำไรให้เข้าเป้า
7. สร้างและรักษาความสัมพันธ์ลูกค้าเก่าและใหม่อยู่เสมอ
8. ทำงบกำไร ขาดทุนและรายงานอื่น ๆ
9. ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
นี่แค่ส่วนหนึ่งที่คัดมาฝากกัน เพื่อให้เห็นว่าพี่สิงโตต้องใช้ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์มากโขทั้งเรื่องระบบและเรื่องคน
สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือ อะไรรู้มั้ยครับ ?
มันคือการที่เจ้าของกิจการหรือผู้ลงทุนมีความรู้
ในตัวระบบน้อยกว่าผู้จัดการร้าน
หรือที่เรียกกันแบบเท่ห์ ๆ ว่าใช้เงินทำงานบ้าง , Passive income บ้างตามสะดวก
แล้วก็ปล่อยให้ผู้จัดการร้านควบคุมทุกอย่างโดยที่ตัวเจ้าของกิจการไม่สามารถตรวจสอบกระบวนการทำงานได้เลย
จนทำให้ผู้จัดการร้านที่เห็นช่องตรงนี้ใช้เป็นเครื่องมือทุจริต
ผมขอแชร์ประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นผู้จัดการเขต
ได้เกิดกรณีทุจริตขึ้นสร้างความเสียหายแค่บริษัทเป็นจำนวนเงินหกหลัก
โดยพิสูจน์ได้ว่าผู้จัดการร้านได้ทำการทุจริตจริง ร่วมกับพนักงานขายในร้านซึ่งพบว่าร่วมกันทำมาเกือบครึ่งปี
ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลฟ้องร้องเอาโทษกันซะให้เข็ด
ผมขอขยายความตรงที่ทำมาครึ่งปี ทำไมไม่โดนจับได้
ความยากมันอยู่ตรงที่เขาใช้ดีกรีผู้จัดการปกปิดข้อมูลหลายอย่างและมีพนักงานขายสมรู้ร่วมคิดด้วย
ทุกอย่างมันเลยเนียนไปหมดหากไม่มีการตรวจสอบโดยละเอียดคงยากที่จะจับได้
เช่น มีลูกค้ามาซื้อของจำนวน 50,000 บาท แต่เจ้าพนักงานขายขอนำเงินไปจ่ายหนี้ส่วนตัวก่อนสักเดือนนึง เมื่อครบกำหนดก็จะนำเงินมาใส่ในระบบตามปกติ หรือที่เรียกว่าหมุนเงินนั่นเอง
พี่สิงโตผู้จัดการจอมโกง ก็ไม่ได้ว่ากล่าวตักเตือน
เพราะตัวเองก็เข้าข่ายหมุนเงินเช่นกัน
เหมือนที่เราชอบพูดติดปากกันคือ
“ทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้าเอ็งอย่าโวย”
(โวยไม่ได้ เงินมันอุดปากอยู่)
พอทำไป ทำมาหมุนเงินไม่ทัน
ก็เอาเงินไปทั้งก้อนซะเลย
สุดท้ายด้วยความโลภมากของคน
มันก็โดนจับได้เพราะเงินหายไปจากระบบเยอะเหลือเกิน
เห็นมั้ยครับว่า
ถ้าพี่สิงโตทำการโกงแต่ละที
ผลลัพธ์ที่เกิดมันค่อนข้างรุนแรงพอสมควร เพราะมันคือเนียนในเนียน
แล้วร้านที่ไม่มีระบบล่ะครับ
ความรุนแรงจะขนาดไหน
คุณเคยได้ยินหรือไม่ที่ผู้จัดการร้านโกงเงินเดือนพนักงานเข้าใหม่เช่น บอกว่าให้เงินเดือน 12,000 บาท
แต่เมื่อจ่ายจริงดันจ่ายไปแค่10,000 บาทถ้วน
ด้วยเหตุผลว่า ยังไม่ผ่านทดลองงานจึงได้ไม่เต็ม
(หากประกอบกับพนักงานใหม่ไม่ค่อยรู้เรื่องสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างและสิทธิประกันสังคมยิ่งหวานหมู)
ทั้ง ๆ ที่เบิกเงินจากอาเสี่ย อาเฮียมาแล้ว 12,000 บาท
แล้วถ้าเผื่อทุกเดือนมีคนเข้าใหม่อยู่เรื่อย ๆ ก็หมกเม็ดโกงกินไปเรื่อยแบบมันปาก
เจ้าของกิจการจะทันเกมส์หรือไม่ ?
กรณีศึกษาที่มักเจอบ่อย ซึ่งพฤติกรรมคล้ายการเล่นแชร์
และผู้จัดการร้านก็เป็นหัวเรือใหญ่เรื่องนี้ คือ
หลาย ๆ ร้านมักจะตั้งโควตาของหายไว้ เช่น เดือนละ 2,000 บาท
หากของหายไม่เกินนี้พนักงานก็ไม่โดนหักเงินค่าคอมมิชชั่น
แต่ถ้ามูลค่าของหายมันดันเกินทะลุเป้าก็จะต้องโดนหักเงินค่าคอมมิชชั่นกันถ้วนหน้า
พี่สิงโตเจ้าของร้าน มองเห็นช่องโหว่ในทันใด
ก็จัดไปเลยว่า หากมีพนักงานอยู่ 5 คน
ก็เวียนกันทุจริตเดือนละไม่เกิน 2,000 บาท
ใครเดือดร้อนเรื่องเงินก็สะกิดพี่สิงโต
เดี๋ยวจัดให้ สินค้าที่หายก็นำไปขายเอาเงินเข้ากระเป๋าบ้างและเอามาใส่กองกลางเพื่อปาร์ตี้สังสรรค์หลังเลิกงาน
พอทำเป็นขบวนการนานเข้า ก็กลายเป็นวัฒนธรรมการโกง
เมื่อมีเด็กพนักงานใหม่เข้ามาก็จะโดนกลืนบ้าง
โดนปิดหู ปิดตาบ้างและหากเป็นคนดีก็ขอลาออกไปเลย
ยิ่งอ่าน ยิ่งต้องถอนหายใจกับพฤติกรรมแย่ ๆ แบบนี้
ซึ่งย้ำว่าหากคนระดับบนอย่างผู้จัดการร้านพาทำละก็
จับยากมากต้องระแวดระวังให้ดี อย่าพลาดเชียวล่ะ
ทั้งชีวิตผมอยู่กับระบบแฟรนไชส์
และต้องขอบอกว่ามันช่างเป็นตัวอย่างที่ดีในการวางทั้งคน
ทั้งระบบในการดำเนินธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ
การบริหารแบบแฟรนไชส์มักวางผู้จัดการร้านเป็นผู้ดูแล
เปรียบดังเป็นหู เป็นตาให้เจ้าของกิจการ
เจ้าของกิจการหรือนักลงทุนสามารถขยายสาขาได้มากตามต้องการตราบที่ยังมีเงินทุนต่อยอด และจำนวนสาขาที่ตั้งขึ้นมาก็ต้องมีผู้จัดการสาขาในจำนวนที่สอดคล้องกัน
หากได้ผู้จัดการที่ดีย่อมทำให้กิจการสามารถแข่งขันได้
แต่หากได้ผู้จัดการชั้นเลวเข้ามาเมื่อไหร่ล่ะก็
พึงระวังไว้ให้ดี อย่าให้ระบบตรวจสอบหย่อนยาน
มิฉะนั้นจะเพลี่ยงพล้ำ
โดนผู้จัดโกง เล่นงานจนกิจการกระอักเลือด
เจ๊งไม่เป็นท่าเอานะครับ
ขอบคุณครับ
ธนบรรณ สัมมาชีพ