หยุดสร้างแฟรนไชส์ที่ไร้คุณค่า

เราจะมีตัวตนทันที เมื่อมีผลประโยชน์กับผู้อื่น
ผู้อื่นในที่นี้ก็คงไม่พ้นผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียทั้งหลายแหล่ เช่น

เมื่อเรามีผลประโยชน์กับลูกค้า
เขาก็จะยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการของเรา
เพราะมองว่าสามารถแก้ปัญหาให้เขาได้

เมื่อเรามีผลประโยชน์กับเพื่อน
เราเล่นกีต้าร์ได้ ก็จะโดนชวนไปทุกงานปาร์ตี้
เรามีรถยนต์ส่วนตัว ก็จะมีคนขออาศัยร่วมทางเสมอ
แม้ไม่เป็นตัวเงินทอง ก็ออกไปลักษณะอื่นอยู่ดี

วันนี้ถ้าขายแฟรนไชส์ไม่ได้
คงหนีไม่พ้นเรื่องผลประโยชน์ไม่ลงตัว
หรือไม่ดึงดูดอีกต่อไป จนถึงเวลาต้องรื้อขึ้นมายกเครื่องใหม่
และขอให้เข้าใจตรงกันว่า
“แฟรนไชส์ซีคาดหวังผลประโยชน์จากสินค้าและบริการของเราเสมอ”

ลองดูเงื่อนไขต่อไปนี้แล้วคิดตามไปพร้อม ๆ กันนะครับ
– ถ้าซื้อแฟรนไชส์ไปแล้ว ไม่ต้องทำงานหนักแบบ 16 ชม.ต่อวัน
แม้หลับยังฝันถึง มันคงดีไม่น้อย เราจะสามารถออกแบบระบบ
ให้ควบคุมกิจการแบบกล้วย ๆ ได้หรือไม่ ?

อย่าลืมนะครับ…มีนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ใช้เงินทำงาน
เขาอาจซื้อแฟรนไชส์ไว้หลายเจ้าไว้ให้ลูกให้หลานดูแล

ถ้าตอบโจทย์นี้ได้… คุณไม่ใช่แฟรนไชส์ไร้คุณค่าแน่นอน

– แฟรนไชส์ที่ขายออกไป มีองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดได้ง่ายหรือยัง
ในเมื่อตลาดแรงงานมันหมุนไป หมุนมา
แทบไม่มีลูกจ้างคนไหนไม่แสวงหาแหล่งที่จ่ายค่าตอบแทนที่มากขึ้น
คนที่เป็นนายจ้างอย่างเรา ๆ ก็ปวดเศียรเวียนหัวอยู่เป็นระยะ
ดังนั้นการที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ง่ายจึงเป็นผลดี

ไม่ต้องใช้เด็กเรียนจบสูง สามารถเรียนรู้ได้เองในไม่กี่วัน
ก็จะทำให้เกิดคุณค่าที่เหนือคู่แข่ง…แบบนี้ไม่มีทางไร้ค่า
นับเป็นผลประโยชน์ทางอ้อมที่ไม่ควรมองข้าม

– แฟรนไชส์ของคุณทำให้แฟรนไชส์ซีดูดีในสังคมมั้ย ?
การเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จร่วมกับแฟรนไชส์ซอร์
ช่างดูยิ่งใหญ่ เดินไปไหนก็มีคนรู้จัก
ยิ่งร้านขายดี ลูกค้าเดินเข้าออกทั้งวันยิ่งโป๊ะเชะ
ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง

อีแบบนี้ฟันธงว่า…เป็นแฟรนไชส์ที่ไม่ไร้คุณค่าครับ

– แฟรนไชส์ที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ
ลงทุนแล้วคืนทุนเร็วมันก็ดึงดูดนักลงทุนได้ดีพอสมควร
สัดส่วนของคนที่ซื้อแฟรนไชส์ไป
มีคนที่บริหารรอดมากกว่าคนที่ร่วง
พิสูจน์ได้ว่าหากอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เช่น
ทำเลดี รักษามาตรฐานได้ มีเงินทุนสำรองหมุนเวียน
พูดได้ว่าผลประโยชน์ลงตัว
มันก็ถือว่ามีคุณค่า น่าลงทุน ลงเรือลำเดียวกัน

– แฟรนไชส์ซีไม่ชอบความเสี่ยง
คือโลกความเป็นจริงมันก็บอกว่า
“ High Risk High Return”
แต่เชื่อเถอะครับ… ถึงเวลาต้องลงทุนจริง ๆ
เจ้าของเงินต้องคิดน้อย คิดใหญ่ คิดนานเป็นธรรมดา

ยิ่งหากฝั่งแฟรนไชส์ซอร์อ่อนเรื่องข้อมูลวิเคราะห์
ไม่สามารถใช้สถิติมาหนุนข้อมูลประกอบการลงทุน
ยิ่งทำให้การตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์โดนผัดผ่อนออกไปเรื่อย ๆ

ให้สร้างคุณค่าที่แตกต่างเสียแต่วันนี้
การที่แฟรนไชส์ซีจะเจ๊งนั้นเราห้ามไม่ได้
แต่ก่อนอื่นช่วยวิเคราะห์ ร่วมแก้ปัญหา
ดุจดังว่าเป็นร้านของตัวเอง ถ้ารอดก็รอดด้วยกัน

ที่ผมสาธยายมาทั้งหมด
คืออยากสื่อสารว่า “คุณค่า” เท่านั้นที่จะช่วยให้
ตัวแฟรนไชส์สามารถยืนระยะยาวได้
เราขายได้เพราะแตกต่าง ไม่ใช่เลียนแบบใครทั้งดุ้น

ผมเองเคยสอนในหัวข้อเรื่อง Value Proposition
ในการเขียนโมเดลธุรกิจ ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญสูงสุด
เราต้องเป็นแฟรนไชส์ที่ใครก็อยากร่วมลงทุน
อยากเป็นเจ้าของ ฝากชีวิตได้อย่างอุ่นใจ

เมื่อใดที่เราตระหนักเรื่องคุณค่า
เท่ากับเราได้สร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจอยู่ในระดับปลอดภัย
ในแง่ที่พร้อมแข่งขัน ประชันกับคู่แข่งในตลาด

และเมื่อใดก็ตามที่เราหมดคุณค่า
เมื่อนั้นญาติสนิท มิตรสหาย และแฟรนไชส์ซีก็พร้อมตีจาก
ได้โปรดอย่าให้วันนั้นมาถึงเลยครับ

======
พื้นที่โฆษณา
ท่านที่สนใจเรียนการทำแฟรนไชส์
สามารถดูรายละเอียด
และสมัครเรียนออนไลน์ได้ที่
https://goo.gl/2yWzbc
หรือ inbox มาตอนนี้ได้เลย
ขอบคุณครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *