โลกแห่งการแข่งขันไม่เคยหยุดนิ่ง ใครที่อยากรักษาตำแหน่งแชมป์
ต้องทำการบ้านอย่างหนัก ส่วนใครที่อยากขึ้นบัลลังก์แชมป์บ้างนี่ก็โคตรเหนื่อย แต่ทำอย่างไรได้ ไม่สู้ก็ตายสิครับ
ผมชอบกลยุทธ์การบริหารงานแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า Kaizen
ที่มีแนวคิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นอยู่เสมอ
ภายใต้หลัก 3 ประการ ซึ่งอธิบายคร่าว ๆ ได้ดังนี้
1. การเลิก งานอะไรที่เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน
2. การลด งานอะไรที่มากมายขั้นตอนเกินเหตุ
3. การเปลี่ยน งานอะไรที่ต้องเปลี่ยนเพื่อความคุ้มค่าในระยะยาว
สิ่งที่ผมนำเสนอในบทนี้ไม่ต่างจากการทำ Kaizen
เพราะทุกกิจการต้องมีการพัฒนาตัวเอง และการนำระบบมาใช้
เท่ากับเป็นการพัฒนาตัวเองให้ก้าวเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น
หนังทุกเรื่องย่อมมีพระเอก เพราะพระเอกแก้ปัญหาได้ดีและแฮปปี้ตอนจบการทำระบบบริหารร้านที่ดีย่อมมีพระเอกเช่นกัน นั่นคือเจ้าชาย “บาร์โค้ด”(Barcode) โดยมีชื่อไทยว่า “รหัสแท่ง” แต่ชื่อฟังดูไม่คุ้นหู จึงขอเรียกชื่อฝรั่งดีกว่านั่นคือ บาร์โค้ด
วัน ๆ บาร์โค้ดทำอะไรบ้าง ช่วยงานอะไรเราได้จริงหรือ ?
คุณเคยคุยกับชาวต่างชาติไม่รู้เรื่องมั้ยล่ะครับ ผมเดาเลยว่าคุณต้องคุยจนน้ำลายแห้งแถมยังเมื่อยมืออีกต่างหาก แล้วถ้ามีล่ามสักคนคอยช่วยเหลือ มันจะไม่ง่ายกว่าหรอกหรือ ?
บาร์โค้ดทำหน้าที่เป็นล่ามให้กิจกรรมของคนและกิจกรรมของคอมพิวเตอร์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว ถูกต้อง แน่นอน แถมยังใช้งานง่าย
สะดวกสบายโดนใจเจ้าของกิจการผู้มองการณ์ไกลเป็นที่สุด
ลองมาดูประโยชน์เป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. ลดความผิดพลาดเรื่องติดป้ายราคา
ทั้งพนักงานขายและแคชเชียร์มีโอกาสผิดพลาด (หรือใครก็ตามที่ได้รับมอบหมายให้ติดป้ายราคา) ยิ่งปริมาณสินค้าจำนวนมหาศาล เช่น เป็นพันชิ้นแถมยังมีรูปลักษณ์ สีสันกล่องเหมือนกัน ก็กลายเป็นติดป้ายราคาผิด หากติดราคาสูงไป
ลูกค้าก็ไม่ซื้อ สูญเสียโอกาสในการขายไปไม่รู้เท่าไหร่ ในทางตรงกันข้ามหากติดราคาถูกไปกิจการก็ขาดทุน (อาจพ่วงประเด็นทุจริตได้ง่าย ๆ)
อ้อ…อีกนิดครับ
กรณีที่เจอลูกค้าซุกซน อยากได้ของดีราคาถูก
จึงสลับสับเปลี่ยนป้ายราคามาหลอกแคชเชียร์ อันนี้ก็สามารถตรวจสอบได้ทันที
เพราะระบบจะอ้างอิงราคาจากฐานข้อมูล ไม่ใช่ไปอ้างอิงกับราคาที่ป้าย เจ้าของกิจการก็สบายใจหายห่วงไปอีกเปราะนึง
2. ลดปัญหาเรื่องป้ายราคาหลุด
หากป้ายราคาหลุด(สติ๊กเกอร์หมดความเหนียว หรือลูกค้าแกะออก) แคชเชียร์ต้องโทรไปถามที่แผนกว่าราคาเท่าไหร่ หรือที่เห็นบ่อย ๆ คือแคชเชียร์ต้องเดินไปดูที่ชั้นวางสินค้า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทั้งวัน แน่นอนว่ากระทบต่อความพึงพอใจลูกค้าแน่ ๆ สุดท้ายยอดขายก็ตกเป็นเงาตามตัว และถ้าแคชเชียร์หรือพนักงานขายเกิดฮั้วกัน ขายราคาถูกออกไปก็เป็นบ่อทุจริตซะอีก
พรุ่งนี้มาต่อนะครับ
======
ทุกท่านสามารถติดตาม…
www.2bfranchisedd.com
“นำเสนอปรัชญาชีวิต สร้างแรงผลักดัน
แรงบันดาลใจในการทำงานให้กับคนทำงาน
พร้อมให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ
ที่สนใจขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์
อย่างจริงจัง”
ขอบคุณครับ
ธนบรรณ สัมมาชีพ