#แฟรนไชส์ขาดระบบจึงต้องระบม ตอนที่ 2

แฟรนไชส์ขาดระบบจึงต้องระบม
แฟรนไชส์ขาดระบบจึงต้องระบม

3. ลดความเสียหายจากเรื่องราคาขาย
นึกภาพร้านโชห่วยที่ไม่มีระบบขายหน้าร้าน
(POS : Point of sale)
กับร้านแฟรนไชส์หมื่นสาขาอย่าง 7Eleven ดูสิครับ
คุณคิดว่าร้านที่ขายด้วยมือนั่งกดเครื่องคิดเลข
กับร้านที่ควบคุมด้วยระบบบาร์โค้ด
ใครจะมีโอกาสพลาดมากกว่ากัน ?

เมื่อเราไม่มีบาร์โค้ดช่วย เราก็ต้องบันทึกราคาสินค้าเองโดยหลักการง่าย ๆ
ของยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกันก็ต้องขายราคาเดียวกัน
แต่ถ้าเปลี่ยนแคชเชียร์หรือพนักงานขายหลายกะ
หรือทำงานลากยาวหลายชั่วโมงจนสมองอ่อนล้า
มันย่อมมีโอกาสผิดพลาดใช่หรือไม่

ทุกครั้งที่ขายผิดราคา ย่อมทำลายความน่าเชื่อถือของกิจการ
ลูกค้าอาจเอาไปบอกต่อหรือไม่ไว้ใจ ไม่กลับมาใช้บริการอีก
นี่ยังไม่รวมพนักงานขี้ฉ้อที่นอนรอโกงอยู่นะครับ
เขาทุจริตเงินส่วนต่างได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากเลยล่ะ
รูเบ้อเร่อเลย !!!

4. ลดปัญหาของหาย
การเช็คสต๊อกจะทำให้รู้ว่าสินค้ายังอยู่ครบหรือไม่
ยิ่งเช็คถี่เท่าไหร่ โอกาสของการหายก็ดูจะน้อยลง
โดยอาจเลือกโฟกัสเฉพาะหมวดที่หายบ่อย ๆ หรือสร้างความเสียหายหลายบาทก็ย่อมได้

การนำบาร์โค้ดเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการจะช่วยให้การเตรียมเช็คสต๊อกสะดวกสบายมากขึ้น เพราะเมื่อมีการขายของออกไป
ในระบบก็จะตัดสินค้าออก ให้จำนวนคงเหลือมีการอัพเดทตลอดเวลา ทีนี้ตกสิ้นวันก็เช็คสต๊อกได้ หรือจะทำการสุ่มเช็คแบบ “ช๊อต! ชาร์จ! ช้อค!” ก็ตามสะดวกเลยครับ
5. ช่วยกัน งานเร็วขึ้น
ในแต่ละวันจะมีชั่วโมงเร่งด่วน กล่าวคือ ช่วงเวลาที่ลูกค้าหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการพร้อม ๆ กันอย่างมืดฟ้ามัวดิน เป็นที่ถูกใจของเจ้าของกิจการแน่นอน แต่ถ้ารับมือกับลูกค้าไม่ดี ผลกระทบที่ตามมาอาจทำให้เสียลูกค้าไปเลยก็ได้

หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์เลวร้ายเช่นนี้ เมื่อเวลาจะเอาของไปคิดเงินที่แคชเชียร์ ต้องต่อคิวยาวเป็นหางว่าวงู เมื่อหมดความอดทนก็เอาของวางไว้แถวเคาน์เตอร์แล้วเดินออกไปซะเลย
ก็แหม … จะจ่ายเงินทั้งทีต้องยืนรอนานแสนนาน แบบนี้เปลี่ยนใจดีกว่า

ดังนั้นเมื่อใช้ระบบบาร์โค้ดเข้ามาช่วย จะทำให้งานของแคชเชียร์ไม่เป็นคอขวด เพราะมีผู้ช่วยขายมาใช้ปืนสแกนบาร์โค้ดและจัดสินค้าลงถุง หรือกล่องตามขนาดของสินค้า จากนั้นระบบก็จะส่งต่อไปที่แคชเชียร์เพื่อเรียกชำระเงินจากลูกค้า

ก็จะส่งต่อกันไปเหมือนขนย้ายแตงโมลงจากรถนั่นเอง
แบบนี้ลูกค้ามากขนาดไหนก็เอาอยู่

ตอนที่ผมทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเขต มีหน้าที่ตรวจสอบยอดขายและผลักดันสินค้าทั้ง สินค้าแฟชั่น สินค้าเก่า สินค้าใหม่ ให้เป็นไปตามเป้า ได้รับประโยชน์จากบาร์โค้ดค่อนข้างเยอะ เพราะเมื่อนำระบบการจัดการร้านมาใช้ ก็จะนำมาซึ่งตัวเลข และสถิติที่น่าสนใจมากมาย

เมื่อวันที่เราต้องการระบายสินค้าเก่าให้ออกจากคลัง เพื่อให้กิจการมีเงินสดไหลเข้า ก็สามารถทำได้ง่าย เพราะมันมีการนับอายุสินค้าทุกตัวตั้งแต่เริ่มรับเข้าจนถึงวันที่ปัจจุบัน ทีนี้ตัวไหนเก่าก็รู้ทันที

การจัดซื้อสินค้าก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะไม่ได้ใช้ความรู้สึก
เพราะระบบสามารถคำนวณให้ว่าสินค้าตัวไหนถึงวาระต้องสั่งเพิ่มโดยวิเคราะห์จากสถิติการขายออก เจ้าของกิจการที่มีหลายสาขาก็อุ่นใจขึ้นเพราะไม่ต้องมานั่งสั่งของเอง แค่สั่งงานให้เด็กที่ร้านเติมของและตั้งงบประมาณการสั่งแต่ละรอบไว้ อะไร อะไรมันก็ง่ายขึ้น

เป็นเช่นไรบ้างครับ คงได้แนวคิดการทำ Kaizen แบบง่าย ๆ
โดยใช้ระบบเข้ามาช่วยโดยลงทุนไม่สูงเลย

พรุ่งนี้มาต่อนะครับ

======

ทุกท่านสามารถติดตาม…
www.2bfranchisedd.com

“นำเสนอปรัชญาชีวิต สร้างแรงผลักดัน
แรงบันดาลใจในการทำงานให้กับคนทำงาน
พร้อมให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ
ที่สนใจขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์
อย่างจริงจัง”

ขอบคุณครับ
ธนบรรณ สัมมาชีพ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *