แฟรนไชส์ต้องทำอย่างไรไม่ให้เจ๊ง
คาวิกฤติ โควิด – 19
เพจ สอนทำแฟรนไชส์ขอเล่าให้ฟัง ดังนี้
ผมขออธิบายว่า “เจ๊ง” ก่อนเลย
เจ๊ง คือ ล้มเลิกกิจการเพราะขาดทุน
ดังนั้นหากไม่ขาดทุน มันก็ไม่เจ๊ง
และการเจ๊งเร็ว เจ๊งช้าก็วัดกันที่สายป่าน
เป็นปัจจัยสำคัญด้วยเช่นกัน
แน่นอนครับว่าสิ่งที่อยู่คนละขั้วกับเจ๊งคือ
รวย และการรวยมันก็คือการได้กำไรต่อเนื่องกัน
ซึ่งสมการของกำไร มันมีอะไรบ้าง ลองมาดูกัน
1. ยอดขาย – ต้นทุน = กำไรขั้นต้น
2. กำไรขั้นต้น – ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน = กำไรจากการดำเนินงาน
3. กำไรจากการดำเนินงาน – ดอกเบี้ย ภาษี = กำไรสุทธิ
ทีนี้เรามาลงรายละเอียดกันเป็นข้อ ๆ
เพื่อให้ตอบโจทย์วันนี้ที่ว่า
“แฟรนไชส์ต้องทำอย่างไรไม่ให้เจ๊งคาวิกฤติ โควิด – 19”
ข้อที่ 1 คือ กำไรขั้นต้น ซึ่งตัวนี้ เป็นตัวบอกถึง
ความสามารถในการควบคุมต้นทุนของกิจการ
หรือของแฟรนไชส์เรานั่นเอง
ข้อนี้บอกว่าเราขายของต้องมีกำไร
ไม่ว่าจะในช่วงวิกฤติหรือไม่ก็ตาม
เพราะหากช่วงภาวะปกติเราดันขายของแบบ
ฟันราคา หรือต่ำกว่าทุนอยู่บ่อย มันแสดงว่า
เราเองนั่นแหล่ะคือวิกฤติเสียเอง
ในช่วงโควิด -19 นี้ ก็ต้องทำงานหนักขึ้นหน่อย
โดยเฉพาะแฟรนไชส์ซอร์หรือผู้ขายแฟรนไชส์
คุณต้องสามารถมอนิเตอร์ไปที่สต๊อกของ
แฟรนไชส์ซีหรือผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้
(หากไม่ได้ควรต้องวิเคราะห์ตัวเองใหม่
เพราะโลกได้หมุนไปสู่ยุคดิจิตอลนานแล้ว)
ผนวกกับข่าวสารรับรู้ว่า
ร้านสาขาของตัวเองเปิดหรือปิด
ร้านของแฟรนไชส์ซีเปิดหรือปิด
และกำหนดการเปิด-ปิด สิ้นสุดวันที่เท่าไหร่กันบ้าง
เพื่อให้ได้มาถึง ของดีราคาถูก แถมยังได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เช่น เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับร้านต่าง ๆ บนห้าง
ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะต้องสั่งปิดนานเท่าไหร่
ร้านที่ไหวตัวทัน ก็ต้องรีบขนย้ายสต๊อกออกมา
และจำหน่ายออกให้ได้เงินสดมากำไว้ในมือเร็วที่สุด
เมื่อแฟรนไชส์ซอร์บริหารงานได้ดี เช่น
สั่งให้ร้านสาขาโยกสินค้าออกมา
โยกทรัพยากรอื่นออกมาไปให้สาขาที่ไม่โดนปิด
ก็เท่ากับ เพิ่มโอกาสให้สาขาที่ยังเปิดอยู่
ถ้าหากเป็นร้านของแฟรนไชส์ซี
ก็สามารถช่วยเหลือกันโดยอาจลดราคา ขายเงินสด
ฝากขาย , ให้เครดิตบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าราคาที่ได้
มีแนวโน้มจะถูกกว่าซื้อขายปกติ ซึ่งก็แล้วแต่ตกลงกัน
ต่อจากเรื่องต้นทุน ซึ่งเน้นทางการจัดซื้อเข้า
ก็ไปต่อที่เรื่องขายออก ซึ่งค่อนข้างซีเรียสเช่นกัน
เพราะถ้าอยากรอดแบบมีกำไรงามก็ต้องมีวิธีเดินหมาก
เนื่องจากคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการขายออนไลน์นั้นได้เข้ามา
เปลี่ยนรูปแบบการขายแบบเดิมซะส่วนใหญ่
ตัวอย่างจากธุรกิจอาหาร ที่ต้องใช้บริการเดลิเวอรี
ข้อมูลจากเว็บไซต์หลักทรัพย์บัวหลวงเอง
ก็ได้บอกว่า “ตั้งแต่คน Work Form Home
ยอดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น LINE MAN
GrabFood หรือ foodpanda สูงขึ้นถึงประมาณ 88%
ขณะที่ยอดสั่งอาหาร ผ่านแอปพลิเคชันของร้านโดยตรง
เพิ่มขึ้นประมาณ 62% และยอดสั่งอาหารผ่านโซเชียลมีเดีย
เพิ่มขึ้นประมาณ 13%
สอดคล้องกับข้อมูลของ “แกร็ป ประเทศไทย” ที่ระบุว่า
ยอดใช้บริการ GrabFood ในช่วงนี้เติบโตถึง 3 เท่า
เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ ทั้งจากผู้ใช้บริการรายเดิม
และผู้ใช้บริการรายใหม่ สำหรับช่วงเวลาฮิต คือ ช่วงเที่ยง
และช่วงเย็น ส่วนอาหารยอดนิยม คือ ชานมไข่มุก และก๋วยเตี๋ยว”
“ธุรกิจการ์เมนท์ ตอนนี้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่หลายราย
เริ่มหันมาปรับแผนการผลิตใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ GQ
,แบรนด์ NaRaYa ,แบรนด์ Greyhound
และแบรนด์ Flynow เป็นต้น
โดยหลายเจ้าเริ่มหันมาผลิตหน้ากากอนามัย
ซึ่งเป็นสินค้าที่คนต้องการมากที่สุดในเวลานี้
ฉะนั้นผู้ประกอบการลายเล็กคงต้องรีบปรับตัวเช่นกัน”
ทางบริษัทที่ผมทำงานอยู่ในตอนนี้
ซึ่งทำเกี่ยวกับสินค้าไอทีครบวงจร
เราเองก็ยังมีส่วนของออนไลน์ที่ต้องเพิ่มเข้ามา
แถมยังมีหลังการขายที่ครบวงจร
รองรับเทรนด์ Work from home มากขึ้น คือ
– Claim at home บริการรับของเคลมถึงบ้าน
– Pickup & Return จัดส่งงานบริการสะดวก สบาย
ไม่ต้องเดินทาง
– Express Repair บริการซ่อมด่วนนอกสถานที่
ค่าบริการเริ่มต้นที่ 300 บาทต่อเครื่อง
– โครงการซื้อสินค้าแบบ Drive Thru จอด รับ กลับบ้าน
อื่น ๆ อีกมากมาย ที่เล่าให้ฟังในวันนี้คงไม่จบ
ในวันนี้ขอจบเรื่อง
ยอดขาย – ต้นทุน
= กำไรขั้นต้น
ไว้เพียงเท่านี้เสียก่อน
พรุ่งนี้จะมาต่อเรื่อง
กำไรขั้นต้น – ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
= กำไรจากการดำเนินงาน
ท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ขายแฟรนไชส์ทุกท่านครับ
จากใจ เพจ ระบบแฟรนไชส์ ง่ายนิดเดียว
ขอบคุณครับ
ธนบรรณ สัมมาชีพ